ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2566 เว็บ thaingo.org จะปรับค่าบริการจากเดิม 300 บาทเป็น 500 บาท
From January 1, 2023, thaingo.org will adjust job announcement fee from 300 baht to 500 baht.

ThaiNGO team support only thaingo.org and thaingo.in.th.

เว็บไซต์ที่ทีมงาน thaingo ดูแลคือ thaingo.org และ thaingo.in.th เท่านั้น

แอมเนสตี้แถลงเด็กมีสิทธิในการชุมนุมและสิทธินี้จะต้องได้รับการคุ้มครองจากรัฐ 

ขอบคุณภาพ จาก : https://www.khaosod.co.th/breaking-news/news_6222560

สืบเนื่องจากการจับกุมและดำเนินคดีเด็กเจ็ดคนเมื่อเร็ว ๆ นี้ ในระหว่างการชุมนุมของกลุ่มรีเดม (REDEM) เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2564 ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมฝูงชนได้ใช้กำลังเกินขอบเขตและไม่ชอบด้วยเหตุผล ในการจับกุมและทำให้เด็ก ผู้สื่อข่าว และผู้ชุมนุมคนอื่นได้รับบาดเจ็บ  

นางปิยนุช โคตรสาร ผู้อำนวยการ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทยกล่าวว่า การจับกุมและทำร้ายเด็กระหว่างการชุมนุมเช่นนี้ เป็นสัญญาณที่ชัดเจนว่า รัฐบาลไทยไม่เคารพศักดิ์ศรีของประชาชน โดยเฉพาะของเด็ก เด็กมีสิทธิแสดงความเห็นเท่าเทียมกับบุคคลอื่นในสังคม และสิทธินี้ต้องได้รับการคุ้มครองจากสังคมและรัฐบาล แทนที่ผู้บังคับใช้กฎหมายจะคุ้มครองเด็ก แต่สำนักงานตำรวจแห่งชาติกลับทำให้เด็กได้รับอันตรายเสียเอง  

“การจับกุมเด็กในที่ชุมนุมเป็นเรื่องที่รับไม่ได้และไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทั้งตามมาตรฐานในประเทศและระหว่างประเทศ การปฏิบัติอย่างไร้เมตตาธรรมต่อผู้ชุมนุม จะยิ่งสร้างความแปลกแยกในสังคม   

“การปฏิบัติที่โหดร้ายต่อเด็กระหว่างการควบคุมตัวที่กองบังคับการตำรวจตระเวนชายแดน ภาค 1 และการที่ศาลเยาวชนไม่ไต่สวนอย่างรอบด้านต่อการจับกุมเช่นนี้ ทำให้เกิดข้อกังวลชั้นพื้นฐานต่อสิทธิที่จะได้รับการพิจารณาอย่างเป็นธรรมและอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก”   

 

ข้อมูลพื้นฐาน  

ในวันที่ 20 มีนาคม 2564 ผู้ชุมนุม 32 คนรวมทั้งเด็กเจ็ดคนถูกจับกุมและดำเนินคดีจากการชุมนุมที่สนามหลวงและบริเวณใกล้เคียง   

สองในเจ็ดคนถูกตั้งข้อหาตามมาตรา 112 มาตรา 215-216 และมาตรา 217 ของประมวลกฎหมายอาญา จากการมั่วสุมชุมนุมอย่างผิดกฎหมาย และการวางเพลิงเผาทรัพย์ การฝ่าฝืนพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินฯ และการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติโรคติดต่อฯ เด็กอีกสองคนยังถูกดำเนินคดีข้อหาตามมาตรา 215-216 และมาตรา 138 ของประมวลกฎหมายอาญา จากการมั่วสุมชุมนุมอย่างผิดกฎหมาย ขัดขืนคำสั่งของเจ้าพนักงาน และทำร้ายเจ้าหน้าที่ระหว่างปฏิบัติหน้าที่  รวมทั้งฝ่าฝืนพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินฯ และพระราชบัญญัติโรคติดต่อฯ เด็กกลุ่มสุดท้ายสามคนยังถูกดำเนินคดีในข้อหาตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก  

นับแต่การชุมนุมการชุมนุมในปี 2563 มีเด็กอย่างน้อย 24 คนที่ถูกดำเนินคดีด้วยข้อหาหนัก รวมทั้งมาตรา 112 (หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ) มาตรา 116 (ยุยงปลุกปั่น) เพียงเพราะการแสดงความเห็นและใช้เสรีภาพด้านการแสดงออกและเสรีภาพในการชุมนุม เด็กหกคนถูกดำเนินคดีในข้อหาตามมาตรา 112 โดยเด็กอายุน้อยสุดมีอายุเพียง 14 ปี นับแต่เดือนตุลาคม 2563 ตำรวจได้ปฏิบัติการหนักหน่วงขึ้นอย่างชัดเจนต่อเด็ก มีทั้งการจับกุมอย่างไม่เลือกหน้าในที่ประท้วง ไม่มีการกำหนดเป้าหมายที่ชัดเจน และมีการใช้กำลังทางกาย นอกจากนั้น ตำรวจยังควบคุมตัวผู้ประท้วงที่ถูกจับที่กองบังคับการตำรวจตระเวนชายแดน ภาค 1 ซึ่งมีการปิดกั้นอย่างมากต่อการเข้าถึงของทนายความและครอบครัว  

ศาลเยาวชนมักไม่เข้ามาไต่สวนในกรณีเช่นนี้ และไม่ได้ปฏิบัติตามแนวปฏิบัติเพื่อประโยชน์สูงสุดของเด็ก และสิทธิที่จะคุ้มครองให้ปลอดพ้นจากอันตราย นอกจากนั้น ศาลยังไม่เข้ามาไต่สวนการจับกุมที่มีการใช้กำลัง  

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย สนับสนุนอย่างเต็มที่ต่อแนวปฏิบัติของคณะกรรมการว่าด้วยสิทธิเด็กและความเห็นทั่วไปที่ 37 ซึ่งเน้นถึงสิทธิที่จะมีเสรีภาพด้านการแสดงออกและเสรีภาพในการชุมนุม และสิทธิที่จะได้แสดงความเห็น โดยเฉพาะผู้ที่เข้าร่วมในการชุมนุมการชุมนุม เรายังคงเรียกร้องให้หน่วยงานบังคับใช้กฎหมายและรัฐปฏิบัติตามพันธกรณีเชิงบวก โดยจะต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความตระหนักอย่างแท้จริงว่ามีเด็กเข้าร่วมในการชุมนุม  

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทยจึงเรียกร้องให้ยกเลิกการดำเนินคดีทุกข้อหากับเด็กและผู้เข้าร่วมการชุมนุมและใช้สิทธิของตน  ทั้งยังเรียกร้องให้มีการสอบสวนอย่างรอบด้านต่อการใช้กำลังจนเกินกว่าเหตุ และการปฏิบัติที่โหดร้าย สิทธิที่จะได้รับการเยียวยาและประโยชน์สูงสุดของเด็ก ควรเป็นปัจจัยสำคัญที่เป็นส่วนหนึ่งของแนวปฏิบัติขั้นพื้นฐานในกระบวนการยุติธรรมด้วย   


 
 
 

 

**********
 
เนาวรัตน์ เสือสอาด
หัวหน้าฝ่ายสื่อสารองค์กร
Naowarat Suesa-ard
Media and Communications Supervisor