ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2566 เว็บ thaingo.org จะปรับค่าบริการจากเดิม 300 บาทเป็น 500 บาท
From January 1, 2023, thaingo.org will adjust job announcement fee from 300 baht to 500 baht.

ThaiNGO team support only thaingo.org and thaingo.in.th.

เว็บไซต์ที่ทีมงาน thaingo ดูแลคือ thaingo.org และ thaingo.in.th เท่านั้น

หลากความเหลื่อมล้ำ หลายความท้าทายที่ผู้หญิงยังต้องพบเจอในปี 2021 

 

 

วันที่ 8 มีนาคมของทุกปี ถือเป็นวันสตรีสากล ซึ่งเป็นวันสำคัญที่ทั่วโลกจะได้เฉลิมฉลองความสำคัญของสิทธิของผู้หญิง และความเท่าเทียมทางเพศ โดยในปี 2021 นี้ ธีมของวันสตรีสากลคือ Choose to Challenge หรือการเลือกที่จะยืนหยัดท้าทายอำนาจและความอยุติธรรม แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ในฐานะองค์กรหลักด้านสิทธิมนุษยชน จึงจัดโครงการห้องเรียนสิทธิมนุษยชน หัวข้อ “วันสตรีสากล: หลากหลายความเหลื่อมล้ำ เธอยังต้องเจออะไรอีกบ้างในปี 2021” โดยมุ่งเน้นประเด็นเกี่ยวกับความท้าทายที่นักเคลื่อนไหวด้านความเท่าเทียมทางเพศต้องเผชิญในยุคปัจจุบัน แม้ว่าการต่อสู้เกี่ยวกับสิทธิสตรีจะดำเนินมาอย่างต่อเนื่องและยาวนานก็ตาม 

 

การเคลื่อนไหวเรื่องความเท่าเทียมทางเพศ 

กิจกรรมห้องเรียนสิทธิมนุษยชนในครั้งนี้ พูดคุยกับ 3 นักเคลื่อนไหวด้านความเท่าเทียมทางเพศ ได้แก่ ชัญญา รัตนธาดา หรือ ปาหนัน นักกิจกรรมเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยและความหลากหลายทางเพศ ซึ่งแจ้งเกิดจากการชูป้าย “อยากเป็นนายกรัฐมนตรี LGBT คนแรกของประเทศไทย” ในการชุมนุมทางการเมืองที่เชียงใหม่ ปาหนันเป็นหนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่ม Young Pride ซึ่งมีจุดประสงค์เพื่อให้นักศึกษาในมหาวิทยาลัยของเธอ และบุคคลภายนอกได้ตระหนักถึงเรื่องอคติทางเพศ และยังมีบทบาทสำคัญในการจัดกิจกรรม Chiangmai Pride รวมทั้งจัดตั้งเพจและนำเสนอคอนเทนต์ออนไลน์เกี่ยวกับความเท่าเทียมทางเพศในรูปแบบต่างๆ 

 

ขณะที่ บุษยาภา ศรีสมพงษ์ หรือ เบสท์ นักกฎหมายสิทธิมนุษยชน และผู้ก่อตั้งองค์กร SHero เบสท์เล่าว่า ก่อนที่จะก่อตั้งองค์กร SHero นั้น เธอได้ทำงานเรื่องการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมของผู้หญิงมาก่อน และมองเห็นถึงการกดทับผู้หญิง ทั้งในเชิงอำนาจ เชิงโครงสร้าง และเชิงเพศสภาวะมาก่อน ทว่าเมื่อเกิดเหตุการณ์ความรุนแรงขึ้นกับตัวเอง เบสท์พบว่าระบบกฎหมายและระบบสวัสดิการรัฐไม่ได้สนับสนุนหรือช่วยเหลือผู้ที่ถูกกระทำความรุนแรง จึงเริ่มโครงการสอนและเสริมพลังให้แก่ผู้หญิงกลุ่มเปราะบางและผู้เสียหายจากความรุนแรงในครอบครัว และพัฒนามาเป็น SHero ในที่สุด โดยมุ่งช่วยเหลือผู้ที่ถูกกระทำความรุนแรง ทั้งการให้ความช่วยเหลือด้านกฎหมาย การขับเคลื่อนนโยบายร่วมกับเครือข่าย และการเสริมศักยภาพให้แก่ผู้หญิง รวมทั้งสร้างพื้นที่ให้คนรุ่นใหม่ได้คุยเรื่องปัญหาความรุนแรง และสื่อสารไปยังบุคคลทั่วไปว่า ความรุนแรงในครอบครัวไม่ใช่เรื่องปกติ 

 

นักเคลื่อนไหวคนที่ 3 ได้แก่ ธนพร วิจันทร์ หรือ ไหม ประธานกลุ่มบูรณาการแรงงานสตรี ก็เล่าว่า กลุ่มของเธอเคยมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนเรื่องการลาคลอด 90 วัน เมื่อ 26 ปีก่อน รวมทั้งเรียกร้องเรื่องการจัดศูนย์เลี้ยงเด็ก สำหรับเลี้ยงเด็กให้ลูกของคนงานหรือคนทำงานทุกคน ที่อยู่ในเขตอุตสาหกรรม โดยแนวทางการเรียกร้องเน้นที่การแสดงพลังของประชาชนหลายคนผ่านการชุมนุมประท้วง ทว่าในปัจจุบัน กลุ่มของเธอหันมาเน้นการขับเคลื่อนเชิงนโยบาย และรวมกลุ่มแรงงานเป็นเครือข่ายเพื่อเรียกร้องสิทธิของแรงงานในพื้นที่ 

 

เมื่อความท้าทายไม่เคยสิ้นสุด 

แม้ว่านักเคลื่อนไหวทั้ง 3 คน จะเดินอยู่บนเส้นทางการต่อสู้เพื่อสิทธิและความเท่าเทียมทางเพศมาอย่างยาวนาน ทว่าความท้าทายในประเด็นเหล่านี้กลับไม่มีทีท่าที่จะลดลง เนื่องจากสภาพการเมืองและสังคมที่ยังคงกดทับสิทธิเสรีภาพของผู้หญิง และยิ่งทวีความแนบเนียนยิ่งขึ้น จนดูเหมือนไม่มีปัญหาใดเกิดขึ้นเลย ซึ่งคุณไหมเล่าว่า ความท้าทายที่เธอยังต้องเจอในการทำงานด้านความเท่าเทียมทางเพศ คือกลยุทธ์ของบริษัทที่ต้องการเลิกจ้างพนักงานที่ตั้งครรภ์ ซึ่งแม้จะมีกฎหมายระบุว่า ห้ามเลิกจ้างพนักงานที่ตั้งครรภ์ แต่หลายบริษัทกลับเลิกจ้างผู้หญิงกลุ่มนี้ โดยอ้างเหตุผลเรื่องประสิทธิภาพในการทำงาน 

 

“ในสถานการณ์โควิด คุณต้องการลดพนักงาน คุณจัดคนท้องก่อนเลย เพราะเดี๋ยวท้องก็ไม่ได้ทำงานแล้ว ลาเราอีก เสียเวลา ต้องไปจ่ายเงินให้อีก บริษัทมองผู้หญิงเป็นต้นทุนการผลิต ไม่ได้มองว่าเป็นมนุษย์คนหนึ่งที่กำลังจะสร้างทรัพยากรรุ่นใหม่ให้กับประเทศชาติ” คุณไหมอธิบาย 

 

ความท้าทายอีกประการหนึ่ง คือการขาดรัฐสวัสดิการ ไม่ว่าจะเป็นการเรียนฟรี ศูนย์เลี้ยงเด็กที่ปลอดภัย หรือระบบการดูแลที่เอื้ออำนวยให้เด็ก ซึ่งนอกจากจะเป็นการสนับสนุนและช่วยเหลือหญิงตั้งครรภ์แล้ว ยังเป็นการจูงใจให้คนหันมามีลูก เพื่อสร้างทรัพยากรมนุษย์ในห้วงเวลาที่ประเทศกำลังเผชิญกับสังคมผู้สูงอายุ ทว่าหน่วยงานที่รับผิดชอบประเด็นนี้ รวมทั้งผู้ที่มีอำนาจในการปกครอง กลับขาดความรู้ความสามารถ และยังไม่เปิดโอกาสให้ผู้หญิงได้เข้าไปมีบทบาททางการเมืองมากเท่าที่ควร ดังนั้น การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการบริหารประเทศก็เป็นอีกหนึ่งความท้าทายสำหรับนักเคลื่อนไหวเช่นกัน 

 

ด้านคุณเบสท์ก็ชี้ในมุมของการทำงานด้านความรุนแรงทางเพศว่า ความท้าทายที่เธอยังต้องเผชิญอยู่ในการขับเคลื่อนประเด็นนี้ คือกฎหมาย พ.ร.บ. คุ้มครองผู้ถูกกระทำความรุนแรง ฉบับปี 2550 ที่ไม่ได้เน้นการคุ้มครองผู้ถูกกระทำความรุนแรง แต่กลับมีเจตนารมณ์ในการรื้อฟื้นสวัสดิภาพของครอบครัว ซึ่งแทนที่จะเอาผู้เสียหายเป็นศูนย์กลาง และคำนึงถึงผลประโยชน์สูงสุดของผู้ถูกกระทำ กลายเป็นการยึดสถาบันครอบครัวเป็นหลัก ซึ่งก็สะท้อนถึงระบบชายเป็นใหญ่ ที่มองว่าความรุนแรงในครอบครัวเป็นเรื่องส่วนตัว 

 

นอกจากนี้ คุณเบสท์ยังมองว่า ผู้หญิงและผู้ชายในสังคมไทยมีต้นทุนที่ไม่เท่ากันตั้งแต่แรก กล่าวคือ ผู้ชายจะมีอภิสิทธิ์มากกว่าผู้หญิง ไม่ว่าจะเป็นแนวคิดที่ว่า การใช้ความรุนแรงของผู้ชายเป็นเรื่องปกติ หรือการรับตำแหน่งผู้นำได้มากกว่าผู้หญิง ในขณะที่ผู้หญิงต้องทำงานหนักกว่า ต้องสู้ และต้องกลับมาทำงานบ้านเพราะเป็นหน้าที่ด้วย 

 

สำหรับคุณปาหนัน เธอมองว่า ทุกวันนี้คนทั่วไปหรือแม้กระทั่งกลุ่มคนที่เคลื่อนไหวด้านประชาธิปไตยยังไม่ได้คำนึงว่าผู้หญิงและเพศหลากหลายกำลังเป็นผู้ที่ถูกกดขี่อยู่ เพราะระบบสังคมออกแบบมาเพื่อให้ผู้ชายได้มีอำนาจในการควบคุมต่างๆ ขณะเดียวกัน กฎหมายในประเทศไทยยังคงคำนึงถึงเฉพาะเพศชายและหญิง ไม่ได้มองถึงผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศแต่อย่างใด 

 

เอาชนะความท้าทาย ทำได้อย่างไร 

หลายครั้งความท้าทายก็กลายเป็นอุปสรรค ซึ่งส่งผลให้การขับเคลื่อนด้านสิทธิและความเท่าเทียมทางเพศเป็นไปอย่างยากลำบาก ดังนั้น คุณปาหนันและคุณไหม จึงเห็นตรงกันว่า สิ่งที่จะทำให้นักเคลื่อนไหวเอาชนะความท้าทายเหล่านี้ได้ อันดับแรกคือ “การแก้ไขรัฐธรรมนูญ” ซึ่งคุณไหมระบุว่า รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันไม่ได้ยึดโยงกับประชาชนแต่อย่างใด 

 

“ถ้ารัฐธรรมนูญเขียนกติกาไว้ว่าทุกคนมีสิทธิมีเสียงเท่าเทียมกัน กฎหมายลูกก็ต้องล้อกับรัฐธรรมนูญ รัฐบาลต้องใช้กระบวนการการมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหา รัฐบาลคิดจากข้างบนแล้วมาให้เราทำ ซึ่งมันไม่เหมาะสมสอดคล้องกับสิ่งที่ประชาชนต้องการ รัฐบาลต้องยอมถอยแล้วก็ต้องมาสร้างกติกา ซึ่งก็คือการเขียนรัฐธรรมนูญใหม่แบบมีส่วนร่วม” คุณไหมระบุ 

 

คุณปาหนันกล่าวว่า “ถ้าสิทธิพื้นฐานของทุกคนได้รับการบรรจุอยู่ในบัญญัติทางรัฐธรรมนูญ มันจะสามารถนำไปอ้างอิงกับทุกๆ มิติได้ การรับรองสิทธิตามบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ แล้วมันอาจจะนำไปสู่การสร้างรัฐสวัสดิการ เพื่อที่จะสนับสนุนสิทธิในชีวิตของคนข้ามเพศหรือของคนที่มีความหลากหลายทางเพศ หรือแม้กระทั่งผู้หญิงได้”  

 

ด้านคุณเบสท์ก็ระบุว่า การออกกฎหมายเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงจำเป็นต้องรับฟังผู้ที่อยู่ “ข้างล่าง” คือประชาชน ไม่ใช่จากมุมมองของผู้มีอำนาจเพียงฝ่ายเดียว 

 

“กฎหมายที่กระทบใครมากที่สุด คนนั้นต้องเป็นคนเขียน กฎหมายที่กระทบผู้หญิงมากที่สุด ผู้หญิงก็ต้องเป็นคนเขียน กฎหมายที่กระทบแรงงาน แรงงานก็ต้องเป็นคนเขียน คนที่ออกกฎหมายคือคนที่รู้เทคนิค คนมีอำนาจ แต่คนที่เป็นผู้เชี่ยวชาญในประเด็นนั้นจริงๆ คือคนที่ได้รับผลกระทบ” คุณเบสท์กล่าว 

 

นอกเหนือจากการเอาชนะปัญหาในเชิงกฎหมายแล้ว การแสดงออกของประชาชนก็เป็นเครื่องมือสำคัญในการแก้ไขปัญหาเช่นกัน โดยคุณปาหนันมองว่า การพูดแสดงความคิดเห็นผ่านการเคลื่อนไหวทางประชาสังคม ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบการชุมนุมในที่สาธารณะหรือออนไลน์ ช่วยให้การเคลื่อนไหวมีความเป็นไปได้มากขึ้น ดังจะเห็นได้จากการชุมนุมในปีที่ผ่านมา ที่ประชาชนหลายหมื่นคนค่อยๆ รวมตัวกัน เพื่อส่งเสียงบอกว่า พวกเขาคือผู้ที่ถูกกดทับ และส่งผลให้ประเด็นปัญหาต่างๆ ไม่ใช่แค่เรื่องส่วนตัวของปัจเจกบุคคลอีกต่อไป 

 

ด้านคุณไหมก็สนับสนุนแนวทางการส่งเสียงเกี่ยวกับปัญหาความไม่เท่าเทียมของผู้หญิง และเน้นย้ำว่าควรออกมาแสดงพลังในที่สาธารณะมากกว่าโลกออนไลน์ 

 

สิ่งที่อำนาจรัฐเผด็จการกลัว ก็คืออำนาจของประชาชนที่จะมารวมกลุ่มกันเพื่อที่จะส่งเสียง เราทุกคนต้องไม่กลัวเรื่องนี้ เพราะการส่งเสียงเกี่ยวกับปัญหาของพวกเรา ของผู้หญิง เป็นเรื่องที่เราพูดได้ เพราะว่ามันเป็นเรื่องจริง ถ้าเราลุกขึ้นมาพร้อมกัน เพื่อจะพูดเรื่องของพวกเรา เรื่องของผู้หญิง เราพูดเสียงเดียวกัน ประเทศนี้มันจะเปลี่ยน อำนาจการต่อรองก็คืออำนาจของพวกเราที่ลุกขึ้นมาต่อสู้ เราไม่มีปืน ไม่มีรถถัง แต่มีใจที่จะสู้ มันจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง” คุณไหมกล่าว 

 

อย่างไรก็ตาม คุณเบสท์ ในฐานะที่ทำงานกับกลุ่มผู้ที่ผ่านพ้นจากความรุนแรงทางเพศมาก่อน กลับมองว่า การบอกให้คนที่ถูกกดทับมานานและได้รับความบอบช้ำทางจิตใจ หันมาเผชิญหน้าท้าทายอำนาจและโครงสร้างทางสังคม ก็เหมือนกับไปลากคนกลุ่มนี้ออกมา ดังนั้น จึงควรปรับท่าทีให้สอดคล้องกับคนกลุ่มนี้ด้วย โดยการให้กำลังใจ เชิญชวนให้คนรอบข้างรับฟังอย่างไม่ตัดสิน และสนับสนุนผู้ที่ผ่านพ้นจากความรุนแรง ส่วนผู้ที่ผ่านพ้นความรุนแรงก็ควรหยุดโทษตัวเอง เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นไม่ใช่ความผิดของพวกเขาแต่อย่างใด 

 

การท้าทายมันทำได้หลายอย่างนะ หนึ่งคือการตั้งคำถามกับระบบว่าทำแบบนี้มันถูกต้องแล้วเหรอ การออกมายืนหยัดเพื่อความถูกต้องก็คือการท้าทาย โดยเฉพาะกลุ่มผู้ถูกกระทำ คุณมีสิทธิทุกประการในการลุกขึ้นมาพูด ออกมาท้าทายสิ่งที่อยุติธรรม เพราะนั่นคือสิ่งที่มันควรจะเป็น และการยืนหยัดเพื่อสิ่งที่ถูกต้องคือสิทธิของทุกคน” คุณเบสท์กล่าว 

 

นอกจากนี้ คุณเบสท์ยังแนะนำว่า การท้าทายสามารถทำได้อย่างมียุทธศาสตร์ โดยเริ่มจากเป้าหมายของการเรียกร้อง รวมทั้งรู้จัก “พัก” เพื่อเติมพลังให้ตัวเองในการขับเคลื่อนประเด็นทางสังคมต่างๆ 

 

“ผู้หญิงมักจะถูกสอนให้ไม่ดูแลตัวเอง ถูกสอนให้ดูแลคนอื่น เพราะฉะนั้น ผู้หญิงจะรู้สึกผิดที่ดูแลตัวเอง แต่จริงๆ แล้วการดูแลตัวเองคือยุทธศาสตร์ เราเอาพลังไปใส่ตรงนี้ แล้ววันต่อมาเราเก็บพลังไว้ คนที่ทำงานหลังบ้าน อย่างเช่นงานเชิงวิจัย เชิงข้อมูล ก็ไม่ต้องรู้สึกผิด เพราะเรามีคนในแต่ละบริบทที่แตกต่างกัน ทุกคนก็จะมีข้อจำกัดของตัวเอง ก็ไม่อยากให้ทุกคนรู้สึกผิดที่ไม่ได้ทำในสิ่งที่เขาควรจะทำขนาดนั้น และในข้อจำกัดนั้น การรวมกลุ่ม การตั้งคำถาม การสร้างบทสนทนา ก็เพื่อเผยแพร่ความตระหนักรู้ให้คนรอบข้างฟัง ก็ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการท้าทายระบบแบบนี้” คุณเบสท์อธิบาย พร้อมเชิญชวนให้ทุกคนหันมาคิด วิเคราะห์ ตั้งคำถาม ซึ่งถือเป็นการท้าทายอย่างหนึ่งเช่นกัน 

 

ขณะที่คุณปาหนันกล่าวว่า เธอมีสื่ออยู่ในมือ และสามารถใช้สื่อที่มีอยู่ทำงานเชิงความคิดให้ก้าวหน้าต่อไปได้ โดยการเสนอแนวคิดที่ก้าวหน้า เพื่อที่จะให้ทุกคนโอบรับความหลากหลาย ไม่ใช่แค่เรื่องเพศอย่างเดียว 

 

“อำนาจร่วม” กุญแจสู่ความเท่าเทียม 

สังคมที่เต็มไปด้วยผู้ใช้อำนาจเหนือและผู้ที่ถูกกดทับจะนำไปสู่สภาพสังคมที่มีความรุนแรงตลอดเวลา เพราะเมื่อใดที่มีการใช้อำนาจเหนือก็จะมีผู้ที่ถูกกระทำ และเมื่อใดที่มีผู้ถูกกดขี่ ก็จะมีคนที่ลุกขึ้นสู้ ดังนั้น คุณเบสท์จึงเสนอทางออกสู่ความเท่าเทียมกันในสังคม นั่นคือ “การใช้อำนาจร่วม” 

 

สังคมที่คนจะเท่ากัน คือสังคมที่มีการใช้อำนาจร่วม มันเป็นสังคมที่น่าจะปราศจากความรุนแรงได้มากที่สุด อย่างหนึ่งที่สร้างวัฒนธรรมการใช้อำนาจร่วมได้ก็คือการรับฟัง ซึ่งเป็นการรับฟังที่เคารพอีกคนจริงๆ และรับฟังโดยไม่ตัดสิน ไม่พูดแทรก วัฒนธรรมนี้ใช้ได้ทั้งในบ้าน ในโรงเรียน ชุมชน เศรษฐกิจ นโยบายรัฐ ระบบการเมืองการปกครอง แค่ตระหนักรู้ว่าอีกคนมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เท่าเทียมกับเรา และเราต้องมั่นใจว่าจะไม่พยายามใช้อำนาจเหนืออีกคนหนึ่ง” คุณเบสท์สรุป 

 
 

 

**********
 
เนาวรัตน์ เสือสอาด
หัวหน้าฝ่ายสื่อสารองค์กร
Naowarat Suesa-ard
Media and Communications Supervisor