Back

เปิด 6 กลุ่มพ่อค้า เบื้องหลังสถานการณ์ความรุนแรงเหมืองทองคำจังหวัดเลย

22 February 2021

1862

เปิด 6 กลุ่มพ่อค้า เบื้องหลังสถานการณ์ความรุนแรงเหมืองทองคำจังหวัดเลย

 

.

หลังจากศาลล้มละลายกลางพิพากษาให้บริษัท ทุ่งคำ จำกัด (“ทุ่งคำ”) ล้มละลาย  กระบวนการต่อจากนั้นก็คือการนำสินทรัพย์ของทุ่งคำไปขายทอดตลาดเพื่อนำมาชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้  จึงเป็นหน้าที่ของกรมบังคับคดีโดยเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะต้องขึ้นบัญชีสินทรัพย์ของทุ่งคำ

.

ในช่วงเริ่มต้นหลังจากคำพิพากษาของศาล  การขึ้นบัญชีสินทรัพย์ของทุ่งคำก็ไม่ได้ง่าย  มีการเตะถ่วง  ละเลย  เพิกเฉยต่อหน้าที่ของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ที่ไม่ยอมดำเนินการขึ้นบัญชีสินทรัพย์  โดยอ้างว่าเป็นภาระหน้าที่ของทุ่งคำที่ล้มละลายหรือผู้เป็นเจ้าหนี้ทั้งหลายต้องมานำยึดสินทรัพย์ให้  ถ้าทุ่งคำหรือเจ้าหนี้รายใดไม่มานำยึด  เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ก็จะไม่ดำเนินการใด ๆ 

.

ในส่วนของทุ่งคำที่มีสถานะล้มละลายและกลายเป็นลูกหนี้นั้น  มีความพยายามยื้อจากบริษัท ทุ่งคาฮาเบอร์ จำกัด (มหาชน) (“ทุ่งคาฯ”) อีกแรงหนึ่งด้วย  ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของทุ่งคำที่ไม่ต้องการให้นำยึดเพื่อขึ้นบัญชีสินทรัพย์ 

.

แต่ทว่าจากการยื่นหนังสือร้องเรียนไปตามหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่าง ๆ ของชาวบ้านโดย ‘กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด 6 หมู่บ้าน’ (ซึ่งเป็นกลุ่ม/องค์กรชาวบ้านที่คัดค้านการทำเหมืองทองคำมาตลอดสิบกว่าปีจนทำให้เหมืองหยุดดำเนินกิจการได้)  ซึ่งถือว่าเป็นเจ้าหนี้รายหนึ่งตามคำพิพากษาของศาลจังหวัดเลย  จึงทำให้มีการนำยึดเพื่อขึ้นบัญชีสินทรัพย์ในท้ายที่สุด  แต่ก็ยังมีปัญหาตามมา  เนื่องจากยังมีสินทรัพย์อีกหลายรายการมีสถานภาพเป็น ‘สินทรัพย์นอกบัญชี’ เพราะไม่ได้ถูกขึ้นบัญชีสินทรัพย์  ซึ่งสินทรัพย์นอกบัญชีเหล่านี้ล้วนเป็นที่หมายปองของพ่อค้า/ผู้ประกอบการเกือบทั้งหมด

.

ซึ่งจากการสังเกตุพฤติกรรมและเจตนาของพ่อค้า/ผู้ประกอบการเหล่านี้ในช่วงรอบปีที่ผ่านมาที่เข้ามาในเขตเหมืองแร่ทองคำหลายครั้งหลายหนเพื่อขอดู ‘สินทรัพย์ในบัญชี’ ในเขตเหมืองแร่ทองคำที่ถูกขึ้นบัญชีอย่างถูกต้องตามกฎหมายโดยเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์  เพื่อประกอบการตัดสินใจในการยื่นซองประมูล  จึงเห็นได้ว่าพ่อค้า/ผู้ประกอบการเหล่านี้มีความประสงค์อยากได้ทั้งสินทรัพย์ในบัญชีที่ต้องไปดำเนินการประมูลตามกฎหมาย  และสินทรัพย์นอกบัญชีที่อยู่นอกการประมูลตามกฎหมาย

.

ซึ่งรายการสินทรัพย์นอกบัญชีหลายรายการที่มีมูลค่าอันเป็นที่หมายปองของพ่อค้า/ผู้ประกอบการ  โดยผู้ที่ทำการชี้ช่องทางให้พ่อค้ารู้ถึงมูลค่าของสินทรัพย์นอกบัญชีเหล่านี้  คือ  เจ้าหน้าที่คนหนึ่งจากสำนักงานอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ เขต 2 อุดรธานี  สังกัดกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่  ดังนี้

.

1. กองหินหน้าโรงงาน  ประเมินน้ำหนักได้ประมาณ 50,000 ตัน  มีราคาอยู่ที่ 50 ล้านบาท ถ้าขายกิโลกรัมละ 1 บาท  หรืออาจมีราคาอยู่ที่ 100 ล้านบาท ถ้าขายกิโลกรัมละ 2 บาท  ถือว่าเป็นกองแร่เกรด A ที่พ่อค้า/ผู้ประกอบการเกือบทั้งหมดหมายปอง

2. กองหิน (แร่สีเหลือง)  ที่กระจายกันอยู่เป็นกองเล็กกองน้อยทางไปบ่อกักเก็บกากแร่ด้านขวามือ  อยู่ข้างโรงแต่งแร่ทองแดง

3. กองหิน  ทางไปบ่อกักเก็บกากแร่  อยู่ทางซ้ายมือห่างจากประตูปิดกั้นประตูแรกประมาณ 20 - 30 เมตร  เป็นกองหินขนาดใหญ่ 3 - 5 แถวเรียงตามยาว  ถ้าจะขนออกต้องโม่บดให้มีขนาดเล็กก่อน

4. กองหิน  อยู่บริเวณบ่อกักเก็บกากแร่  ใกล้เครื่องสูบน้ำใต้ดิน

5. หินโคลนที่ผ่านการสกัดแร่ทองคำไปแล้วในบ่อกักเก็บกากแร่  หรือบ่อไซยาไนด์  พื้นที่ 98 ไร่  ความลึกประมาณ 18 เมตร

6. กองหินที่อยู่ในขุมเหมืองภูทับฟ้าและภูซำป่าบอน  เป็นกองหินที่ถูกระเบิดเพื่อเปิดหน้าดินเข้าไปเอาแร่ทองคำและทองแดงที่อยู่ในชั้นหินลึกลงไป 

7. กองหินแร่ทองคำและทองแดงบนภูซำป่าบอน  อยู่บนปากขุมเหมืองตรงซ้ายมือของทางลงไปภายในขุมเหมือง

8. สินแร่ปริศนา 150 ถุงบิ๊กแบ็ก  ถูกซุกซ่อนอยู่ภายในเขตเหมืองแร่

.

โดยมีพ่อค้า/ผู้ประกอบการที่ประสงค์ทั้งสินทรัพย์ในบัญชีและสินทรัพย์นอกบัญชีหลายรายด้วยกัน  ซึ่งที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการก่อสถานการณ์คุกรุ่นที่อาจนำไปสู่ความรุนแรงรอบใหม่  มีอยู่ด้วยกัน 6 กลุ่ม  ดังนี้

.

1. กลุ่มโคราช 1  ประสงค์อยากได้กองสินแร่หน้าโรงงานที่ไม่ได้ถูกขึ้นบัญชีสินทรัพย์  โดยนายเหล่ได้เสนอต่อชาวบ้านว่าจะรับซื้อกิโลกรัมละ 2 บาท 

.

2. กลุ่มลูกน้อง ส.ส. เลิศศักดิ์  ผู้ที่เข้ามาติดต่อกับชาวบ้านในพื้นที่เป็นอดีตปลัดเทศบาลแห่งหนึ่งใน จ.เลย  ซึ่งมากับผู้ติดตามอีกคนหนึ่งที่เป็นน้องเขยเจ้าของโรงงานแยกแร่ทองคำในมือถือและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิคส์สัญชาติเกาหลีใต้ (หรืออาจจะเป็นไต้หวัน)  เริ่มต้นที่ขอเข้ามาดูสินทรัพย์ในเขตเหมืองแร่เพื่อประกอบการตัดสินใจแข่งประมูล  กลุ่มนี้ให้ความสนใจกับสินแร่ทองคำผสมทองแดง 190 ถุง ที่ถูกขึ้นบัญชีสินทรัพย์เอาไว้  แต่ต่อมาเริ่มเบี่ยงเบนความสนใจไปที่กองสินแร่หน้าโรงงานที่ไม่ได้ถูกขึ้นบัญชีสินทรัพย์ไว้  โดยต้องการสินแร่หน้าโรงงานเอาไปเป็นตัวอย่างทดสอบว่าเครื่องแยกแร่ในมือถือและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิคส์ที่ติดตั้งอยู่ในโรงงานของตนจะแยกแร่ในกองสินแร่หน้าโรงงานได้หรือไม่  อย่างไร

.

3. กลุ่มโคราช 2  มีเครือข่ายผู้เชี่ยวชาญที่มีความน่าเชื่อถือมากกว่ากลุ่มโคราช 1  ผู้ที่เข้ามาติดต่อกับชาวบ้านในพื้นที่เป็นชายสูงอายุคนหนึ่ง  และชายวัยกลางคนจาก ต.นาโป่ง อ.เมือง จ.เลย อีกคนหนึ่ง (พื้นที่ ต.นาโป่ง เป็นพื้นที่คำขอประทานบัตรทำเหมืองทองคำหลายแปลงของทุ่งคำ  ปัจจุบันคาดว่าน่าจะถูกยกเลิกคำขอฯไปแล้วจากสภาวะล้มละลายของทุ่งคำ)  โดยผู้ที่เข้ามาในพื้นที่บอกว่าต้องการซื้อทุกอย่างในเขตเหมืองแร่ไม่ว่าจะอยู่ในหรือนอกบัญชีสินทรัพย์ก็ตาม  และสนใจตัวโรงงานเป็นพิเศษ  โดยพยายามหาถังคาร์บอนที่ดูดซับทองคำ  เพื่ออยากเอาไปทดสอบดูว่ายังมีทองคำเหลือตกค้างในปริมาณมากพอที่จะทำกำไรจากการประมูลหรือไม่  

.

4. กลุ่มบอย 1 และอดีตเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์  เป็นสองคนหลักที่เข้ามาติดต่อกับชาวบ้านในพื้นที่  มีความประสงค์อยากได้มอเตอร์ตัวใหญ่ 12 ตัว ที่ติดตั้งอยู่บนถังยักษ์แต่ละถัง  ถึงขั้นเสนอกับชาวบ้านเพื่อขอซื้อมอเตอร์นอกบัญชีทรัพย์สินหรือนอกการประมูลว่า “ขอเอามอเตอร์ตัวจริงไปทั้งหมด  แล้วจะหามอเตอร์ของปลอมมาเปลี่ยนแทนให้”  และเป็นที่น่าสนใจว่ากลุ่มนี้เคยเข้าไปประชุมกรรมการเจ้าหนี้ที่กรมบังคับคดีเมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2563 ด้วย  ซึ่งยังเป็นที่น่าสงสัยว่าเข้าไปได้อย่างไร  โดยเข้าไปมีข้อเสนอแก่กรรมการเจ้าหนี้สองประเด็น  คือ  (1) เสนอให้ลดราคาบำบัด  เนื่องจากการประมูลโรงงานและส่วนประกอบของโรงงานทั้งหมดมีเงื่อนไขว่าจะต้องจ่ายค่าบำบัดมลพิษและของเสียที่เกิดจากการแยกแร่และถลุงแร่จำนวน 8.4 ล้านบาท ด้วย  เพราะเห็นว่าค่าบำบัดที่สูงมากจะเป็นอุปสรรคทำให้ไม่มีพ่อค้า/ผู้ประกอบการรายใดเข้ามาประมูล  และ (2) ขอเปลี่ยนระบบการประมูลสินทรัพย์เป็นระบบซื้อหน้าโต๊ะกรรมการเจ้าหนี้แทน  เพื่อต้องการให้เกิดความรวดเร็วในการซื้อขาย

.

5. กลุ่มไขนภาฯ  นำโดยยักษ์ ลักษณ์และทองแดง  เป็นกลุ่มที่ต้องการอยากได้ทุกอย่างในเขตเหมืองแร่ทั้งในและนอกบัญชีสินทรัพย์เช่นเดียวกัน  และเป็นกลุ่มที่ได้สินแร่ทองคำผสมทองแดง 190 ถุง ที่ถูกขึ้นบัญชีสินทรัพย์ไปจากการประมูลรอบที่สาม  โดยพา หจก.ไขนภาสตีล (ปราจีนบุรี) มาประมูลในรอบที่สามเมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2563  โดยนายทองแดง ทองไหม  ตัวแทน หจก.ไขนภาสตีล (ปราจีนบุรี) ที่มาประมูลสินแร่ทองคำผสมทองแดง 190 ถุงไป แท้จริงแล้วเป็นนายหน้ามาประมูลให้บริษัท เอส.พี.ซี. พรีเชียส เมททอล จำกัด  ซึ่งมีนางสาวอัญชลี พรพิไลลักษณ์ กับนายชูเกียรติ วัฒนวิทย์ เป็นกรรมการบริษัทนี้  และเชื่อมโยงกับบริษัท พรพรหมเม็ททอล จำกัด (มหาชน) ที่มีนายชำนาญ พรพิไลลักษณ์ เป็นหนึ่งในกรรมการบริษัท  จึงคาดว่า หจก.ไขนภาสตีล (ปราจีนบุรี) น่าจะทำหน้าที่นายหน้ามาประมูลสินแร่ทองคำผสมทองแดง 190 ถุง ให้กับบริษัท พรพรหมเม็ททอล จำกัด (มหาชน)   

.

6. กลุ่มทุ่งคำ  นำโดยเอ๋ บอย 2 และ เสธ.ไก่  เป็นกลุ่มที่ดูลึกลับที่สุดหลังจากหายหน้าหายตาไปจากความรับผิดชอบตามคำพิพากษาของศาลจังหวัดเลยที่พิพากษาสองประการ  ได้แก่  (1) ให้ชดใช้ค่าเสียหายแก่ประชาชนผู้ได้รับความเสียหายจากการประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคำ  จำนวน 149 ราย ๆ ละ 104,000 บาท  บวกดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 จนกว่าจะมีการชำระ  รวมเป็นเงินทั้งหมดที่ยังไม่รวมดอกเบี้ย 15,496,000 บาท  และ (2) ให้ฟื้นฟูเหมืองทองคำให้กลับคืนสู่สภาพเดิมโดยให้ประชาชนมีส่วนร่วมด้วย 

.

กลุ่มนี้เริ่มจากเอ๋  ชื่อจริงคือนายวัชระ  ไม่ทราบนามสกุล  เคยเป็นวิศวกรไฟฟ้าอยู่ในทุ่งคำ  ซึ่งทุ่งคำยังคงค้างค่าจ้าง 7 แสนบาท  จึงอยากได้เงินส่วนนี้คืน  โดยชักพาทุ่งคำกลับเข้ามาในพื้นที่  ซึ่งในวันที่ 4 มกราคม 2564  เป็นวันที่เกือบจะเกิดเหตุการณ์รุนแรงจากการที่เอ๋  บอย 2  และ เสธ.ไก่  เข้ามาข่มขู่คุกคามชาวบ้านให้เปิดประตูทางขึ้นเหมือง  โดยอ้างว่าจะเข้ามาฟื้นฟูเหมือง  ซึ่งได้นำเอกสารสองรายการมาอ้างแก่ชาวบ้านเพื่อให้ชาวบ้านยินยอมเปิดประตูทางขึ้นเหมือง  ได้แก่  (1) ‘สัญญาซื้อขายหิน’  ลงวันที่ 18 สิงหาคม 2563  รายละเอียดในสัญญาดังกล่าวระบุว่า  ผู้ขายคือทุ่งคำตกลงขายหิน (กองสินแร่หน้าโรงงานที่ยังไม่ได้ถูกขึ้นบัญชีสินทรัพย์)  จำนวน 1 ล็อต  ประมาณ 50,000 ตัน  ราคาตันละ 1,000 บาท  แก่ผู้ซื้อคือนายสุธี ซอเสียงดี  โดยผู้ขายรับรองว่าสิ่งที่ขายให้ตามสัญญานี้เป็นแร่ทองแดงของทุ่งคำที่สามารถซื้อขายได้ตามสภาพที่ได้ตกลงกันไว้แล้ว  ผู้ขายจะส่งมอบหินที่ซื้อขายตามสัญญานี้ให้แก่ผู้ซื้อ  ณ ที่ทำการของผู้ขายที่สินค้าคือหินวางอยู่  โดยผู้ซื้อจะเป็นผู้รับผิดชอบค่าขนย้าย ค่าขนส่ง และค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ที่เกิดขึ้นเอง  ผู้ซื้อตกลงชำระเงินล่วงหน้าจำนวน 500,000 บาท ในวันที่ทำสัญญาฉบับนี้ให้แก่ผู้ขาย 

.

และ (2) ‘รายงานประจำวันรับแจ้งเป็นหลักฐาน’  ของสถานีตำรวจ สภ.วังสะพุง  เล่มที่ 0011/2563  เลขที่ 0019  ลงวันที่ 10 ธันวาคม 2563  เวลา 15.18 น.  โดยมีรายละเอียดว่า  นายอมตนพวงศ์ บุญพัฒน์วัคร  อายุ 48 ปี  มา สภ.วังสะพุง เพื่อแจ้งว่าเป็นผู้ได้รับมอบฉันทะในฐานะผู้รับมอบอำนาจจากกรรมการผู้มีอำนาจบริษัทลูกหนี้ (ทุ่งคำ) มีอำนาจแทนในการดูแลทรัพย์ในส่วนที่กรมบังคับคดีที่ไม่ได้ยึดไว้ (ไม่ได้ขึ้นบัญชีสินทรัพย์/สินทรัพย์นอกบัญชี) ตามรายการยึดทรัพย์จากกรมบังคับคดี  ซึ่งทุ่งคำต้องดูแลให้อยู่ในระบบจัดการตามแผนฟื้นฟูสภาพป่าตามคำพิพากษาของศาลจังหวัดเลย  ในคดีหมายเลขดำที่ สว.(พ)1/2561  คดีหมายเลขแดงที่ สว.(พ)1/2561  ที่พิพากษาเมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2561 ให้จำเลยหรือทุ่งคำแก้ไขฟื้นฟูสภาพป่า  ซึ่งสินทรัพย์นอกบัญชีเหล่านี้ไม่ได้อยู่ในความรับผิดชอบของกรมบังคับคดี  และในวันที่ 20 ธันวาคม 2563  ทุ่งคำจะเข้าไปดำเนินการเคลียร์พื้นที่เพื่อที่จะดำเนินการฟื้นฟูสภาพป่า 

.

ตรงจุดนี้เองคือสาระสำคัญ  กล่าวคือ  สัญญาตาม (1) และรายงานตาม (2) น่าจะเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย  เนื่องจากว่าศาลล้มละลายกลางได้มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 3 มกราคม 2562 ให้ทุ่งคำล้มละลายแล้ว  ดังนั้น  บรรดาประทานบัตร  คำขออาชญาบัตรพิเศษ  คำขอประทานบัตร  และสัญญาว่าด้วยการทำเหมืองตามประทานบัตรของทุ่งคำจึงสิ้นสุดลงนับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษา  ทุ่งคำจึงไม่มีสิทธิใด ๆ ตามที่กล่าวอ้างไว้ในสัญญาตาม (1) และรายงานตาม (2) ที่จะเข้าไปในเขตเหมืองแร่ได้อีก    

.

ไม่เพียงเท่านั้นพ่อค้า/ผู้ประกอบการยังมีความสัมพันธ์เชื่อมโยงซับซ้อนกันหลายประการ  โดยหลังจากที่กรมบังคับคดีประกาศขายสินแร่ทองคำผสมทองแดง 190 ถุง  โดยมีข่าวว่าพ่อค้า/ผู้ประกอบการทั้ง 6 กลุ่ม มีข้อตกลงทางวาจาร่วมกันว่าจะไม่ทำการประมูลรอบที่หนึ่งถึงสาม  แต่จะรอให้ถึงการประมูลรอบที่สี่เสียก่อนเพื่อจะกดราคาสินทรัพย์ที่ถูกประมูลชุดแรกคือสินแร่ทองคำผสมทองแดง 190 ถุง  ให้ต่ำที่สุดจึงค่อยแข่งขันกันประมูล  แต่ทว่าข้อตกลงทางวาจาก็ถูกละเมิดโดยกลุ่มไขนภาฯ ที่นำโดยยักษ์ ลักษณ์และทองแดง ชิงประมูลตัดหน้าเอาสินแร่ทองคำผสมทองแดง 190 ถุง ไป  เพื่อหวังที่จะเข้าไปยึดพื้นที่เขตเหมืองแร่ก่อนผู้ประมูลกลุ่มอื่น ๆ  โดยมีวัตถุประสงค์ที่ชัดเจนว่าจะเข้ามาเอาสินทรัพย์นอกบัญชีทุกรายการ  ซึ่งหลังจากที่ไขนภาฯประมูลสินแร่ทองคำผสมทองแดง 190 ถุงได้แล้ว  ยักษ์และลักษณ์ได้ทำการโทรศัพท์หาตัวแทนผู้ประมูลกลุ่มอื่น ๆ ไปทั่ว  เช่น  โทรศัพท์หานายเหล่ตัวแทนกลุ่มโคราช 1 ว่า  “ผมเข้าไปยึดพื้นที่เขตเหมืองแร่ได้แล้ว  ถ้ากลุ่มคุณอยากได้อะไรก็แจ้งมานะ”

.

โดยสถานการณ์ความเสี่ยงที่กำลังคุกรุ่นอยู่ ณ เวลานี้ กำลังก่อตัวเป็นความรุนแรงรอบใหม่  ซึ่งดูเหมือนว่าทุกกลุ่มอยากเข้าไปยึดพื้นที่เขตเหมืองแร่ให้ได้ก่อน  เพื่อเข้าไปเอาสินทรัพย์นอกบัญชีรายการอื่น ๆ ที่มีมูลค่าอันเป็นที่หมายปองของพ่อค้า/ผู้ประกอบการ  แต่กลุ่มอื่น ๆ ก็มาเพลี่ยงพล้ำให้กับกลุ่มไขนภาฯที่ชิงประมูลสินแร่ทองคำผสมทองแดง 190 ถุง ตัดหน้าในรอบที่สาม  ซึ่งในระหว่างที่กลุ่มไขนภาฯดำเนินการชิงประมูลตัดหน้าในรอบที่สาม  กลุ่มทุ่งคำก็ดำเนินการเช่นเดียวกัน  โดยทำสัญญาซื้อขายหินดังกล่าวตามที่ได้กล่าวไปแล้วข้างต้น  และสถานการณ์ความรุนแรงก็เริ่มก่อตัวขึ้นเนื่องจากกลุ่มทุ่งคำอยากขนหิน (กองสินแร่หน้าโรงงานที่ยังไม่ได้ถูกขึ้นบัญชีสินทรัพย์/สินทรัพย์นอกบัญชี) ตามสัญญาซื้อขายดังกล่าวในช่วงเวลาเดียวกับที่กลุ่มไขนภาฯจะทำการขนสินแร่ทองคำผสมทองแดง 190 ถุง ที่เป็นสินทรัพย์ในบัญชีออกไป  เพื่อจะได้สวมรอยจนทำให้ชาวบ้านไม่สงสัย  ช่วงเวลาดังกล่าวคือช่วงเวลาตั้งแต่วันที่ 4 มกราคม 2564 เป็นต้นมา  แต่ทว่ากลุ่มไขนภาฯไม่ตอบสนองคำขอจากกลุ่มทุ่งคำก็ด้วยเหตุผลสองประการ  คือ  (1) กลุ่มไขนภาฯอ้างกับกลุ่มทุ่งคำว่าการขนสินแร่หน้าโรงงานจำนวนมากเพิ่มเติมเข้ามาในระหว่างขนสินแร่ทองคำผสมทองแดง 190 ถุง  ซึ่งถูกขึ้นบัญชีสินทรัพย์อย่างถูกต้องตามกฎหมายแล้ว  จะไม่รอดพ้นความสงสัย  และเกรงจะถูกเอาผิดทางกฎหมายตามไปด้วย  จนทำให้กลุ่มไขนภาฯตกที่นั่งลำบากจนไม่สามารถเข้ามาเอาทั้งสินทรัพย์ในและนอกบัญชีที่เหลือได้อีกต่อไป  และ (2) แท้จริงแล้วการที่กลุ่มไขนภาฯอ้างเรื่องการทำถูก/ผิดกฎหมายขึ้นมาตามข้อ (1)  ก็เป็นข้ออ้างบังหน้าเพื่อต้องการที่จะฮุบกองสินแร่หน้าโรงงานแทนทุ่งคำเสียเองมากกว่า

.

โดยสถานการณ์ปัจจุบันหลังจากเจรจากับชาวบ้านเมื่อวันที่ 4 มกราคม 2564 ตรงประตูทางขึ้นเหมืองไม่สำเร็จ  ทุ่งคำคงรู้ว่าเอกสารสัญญาซื้อขายหินดังกล่าวจะถูกเปิดโปงอย่างแน่นอน  จึงรีบฟอกตัวเองด้วยการไปยื่นคำร้องต่อศาลจังหวัดเลยในวันรุ่งขึ้น  เพื่อจะเอาไปอ้างต่อสาธารณะหากถูกเปิดโปงเอกสารสัญญาซื้อขายหินว่าได้ทำการติดต่อประสานงานเพื่อขอเข้าไปในเหมืองอย่างถูกต้องตามกฎหมาย  และตอบโต้เอกสารสัญญาซื้อขายหินดังกล่าวที่เอามาเปิดโปงว่าเป็นเอกสารเท็จที่ทำขึ้นมาจงใจกลั่นแกล้งทุ่งคำ  โดยเฉพาะนายสิริพงศ์ สอาดบุตร  กรรมการผู้มีอำนาจลงนาม  ซึ่งเป็นผู้ลงนามเป็นผู้ขายในสัญญาซื้อขายหินดังกล่าว  โดยมีเนื้อหาที่ไปยื่นคำร้องต่อศาลจังหวัดเลยความว่า  “จำเลยมีความประสงค์ขอให้ศาลจังหวัดเลยอนุญาตให้จำเลยปฏิบัติตามคำพิพากษา  และโปรดแจ้งให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์อนุญาตให้จำเลยปฏิบัติตามคำพิพากษาได้  โดยอนุญาตให้จำเลยเข้าไปดำเนินการฟื้นฟูโดยมีผู้เชี่ยวชาญที่มีประสบการณ์  ซึ่งจำเลยเป็นผู้จัดหาเพื่อความพร้อมในการฟื้นฟูต่อไป”

.

แต่ศาลก็ได้ยกคำร้อง  โดยให้เหตุผลว่า  “พิเคราะห์แล้วเห็นว่าขณะนี้จำเลยถูกศาลพิพากษาให้ล้มละลาย  และอยู่ในการบริหารจัดการของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์  หนี้ตามคำพิพากษาในคำร้องมิใช่หนี้กระทำการโดยลำพัง  หากแต่มีประเด็นเรื่องค่าใช้จ่ายมาเกี่ยวข้อง  ซึ่งจำเลยจะต้องไปดำเนินการผ่านทางเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์  ซึ่งจัดตั้งขึ้นตามกฎหมายล้มละลาย  ศาล (จังหวัดเลย) ไม่มีอำนาจไปสั่งเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้  เพราะอยู่คนละเขตอำนาจศาลกัน  จึงให้ยกคำร้อง”

.

ซึ่งกลุ่มทุ่งคำโดยเอ๋ บอย 2 และ เสธ.ไก่ บอกกับชาวบ้านตรงประตูทางขึ้นเหมืองในวันที่ 4 มกราคม 2564 ว่า  “ทุ่งคำจะเสนอโครงการขอทำเหมืองชั่วคราว  เพื่อสกัดเอาสินแร่ทองคำจากกองหินและกองกากแร่อีกรอบหนึ่ง”  สอดคล้องกับคำบอกเล่าของชาวบ้านในพื้นที่ว่ามีการเช่ารถแบ็คโฮจากผู้รับเหมาในพื้นที่ประมาณ 6 - 7 เดือน เพื่อมาขนแร่ให้ทุ่งคำ

.

ความพยายามของทุ่งคำที่จะเข้าไปเอากองสินแร่หน้าโรงงานและสินทรัพย์นอกบัญชีรายการอื่นยังไม่จบสิ้น  ในวันประชุมคณะกรรมการฟื้นฟูเหมืองทองคำจังหวัดเลยที่ศาลากลางจังหวัดเลยเมื่อวันที่ 20 มกราคม 2564  ได้จ้างวานนายประเทือง ไม่ทราบนามสกุล อดีตเจ้าหน้าที่ กอ.รมน. ไม่ทราบจังหวัดที่เคยประจำการอยู่  ให้เข้ามายื่นหนังสือถึงในห้องประชุม  ใจความว่าขอให้จังหวัดแต่งตั้งตัวแทนทุ่งคำเข้าไปในคณะกรรมการฟื้นฟูฯด้วย

.

ซึ่งการมาเผชิญหน้าชาวบ้านของทุ่งคำที่หน้าประตูทางขึ้นเหมืองในวันที่ 4 มกราคม 2564  เอ๋ บอย 2 และ เสธ.ไก่ ได้นำชายฉกรรจ์ผมเกรียนประมาณเกือบ 20 คน ติดตามมาด้วย  ซึ่งมีการแต่งกายคล้าย ๆ กับชายฉกรรจ์ประมาณ 20 คน เช่นเดียวกัน ที่เป็นลูกน้องของสองนายทหารพ่อลูกจากค่ายเอราวัณ จ.ลพบุรี (พล.ท.ปรเมศร์ ป้อมนาค  และ พ.ท.ปรมินทร์ ป้อมนาค) ที่ถูกจำคุกตามคำพิพากษาจากคดีที่นำกำลังคนกว่า 200 คน เข้ามาทำร้ายร่างกายชาวบ้านในคืนวันขนแร่เมื่อ 15 พฤษภาคม 2557  ในพื้นที่เดียวกันนี้

About Us

เว็บไทยเอ็นจีโอ สนับสนุนการใช้สัญญาอนุญาตครีเอทีฟคอมมอนส์และเผยแพร่แนวคิดวัฒนธรรมเสรี เนื้อหาในเว็บไซต์ไทยเอ็นจีโอดอทโออาจี ท่านสามารถเอาไปใช้งานได้เลยโดยไม่ต้องขออนุญาต เพียงท่านระบุที่มาและห้ามทำการค้า

ThaiNGO Team

ติดต่อประสานงาน - Contact
Tel : 099-014-3797

ทศพร แกล้วการไร่ : ผู้ดูแลเว็บ - Webmaster
Tel : 080-078-4016

อัฎธิชัย ศิริเทศ : บรรณาธิการ - Editor
Tel : 082-178-3849

Email : webmaster@thaingo.org

Office Hours : Mon-Fri , 9.00-17.00

Contact Info

2044/23 ถ.เพชรบุรีตัดใหม่ บางกะปิ ห้วยขวาง กรุงเทพ 10310

2044/23 New Phetchaburi Road, Bangkapi, Huai Khwang, Bankok 10310

+662 314 4112