ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2566 เว็บ thaingo.org จะปรับค่าบริการจากเดิม 300 บาทเป็น 500 บาท
From January 1, 2023, thaingo.org will adjust job announcement fee from 300 baht to 500 baht.

ThaiNGO team support only thaingo.org and thaingo.in.th.

เว็บไซต์ที่ทีมงาน thaingo ดูแลคือ thaingo.org และ thaingo.in.th เท่านั้น

แถลงการณ์ ขอให้รัฐบาลยุติการใช้ความรุนแรงต่อผู้ที่ออกมาใช้เสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบโดยทันที

แถลงการณ์ขอให้รัฐบาลยุติการใช้ความรุนแรงต่อผู้ที่ออกมาใช้เสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบโดยทันที และให้รัฐสภารับร่างรัฐธรรมนูญทุกฉบับ เพื่อเปิดพื้นที่สันติวิธีที่ประชาชนทุกคนได้มีส่วนร่วมทางการเมืองและสังคม

 

จากกรณีเจ้าหน้าที่ตำรวจได้นำกำลังเข้าปิดกั้น สกัดและฉีดน้ำผสมแก๊สน้ำตาใส่ประชาชนที่ไปร่วมชุมนุมติดตามว่าร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับประชาชน จะผ่านการพิจารณาของสภาหรือไม่ ซึ่งเป็นหนึ่งใน 3 ข้อเรียกร้องของประชาชนมาตลอด ได้แก่ 1.ให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และองคาพยพ ลาออก 2. รัฐสภาต้องเปิดประชุมวิสามัญทันทีเพื่อรับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน และ 3. ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ให้อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญตามระบอบประชาธิปไตย  โดย นอกจากมีการฉีดน้ำผสมแก๊สน้ำตาใส่ประชาชนที่ไปร่วมชุมนุมแล้ว เจ้าหน้าที่ยังมีการเตรียมใช้กระสุนเพื่อยกระดับมาตรการควบคุมฝูงชนด้วยนั้น

สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (สนส.) มีความเห็นว่า การใช้เสรีภาพในการชุมนุมของประชาชนเพื่อเรียกร้องและติดตามการลงมติต่อร่างรัฐธรรมนูญที่ประชาชนได้ร่วมกันเสนอ ที่บริเวณหน้ารัฐสภานั้น ยังถือเป็นการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ อันเป็นสิทธิอันชอบธรรมที่พึงกระทำได้ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 44 และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ข้อบทที่ 21 ที่รัฐไทยมีพันธกรณีที่ต้องปฏิบัติตาม ซึ่งการจำกัดใช้เสรีภาพในการชุมนุมดังกล่าวย่อมกระทำไม่ได้ การอาศัยเพียงข้อเท็จจริงที่ว่าผู้ชุมนุมไม่ปฏิบัติตามกฎหมายภายในประเทศเกี่ยวกับการชุมนุมบางประการ ไม่อาจทำให้การชุมนุมนั้นกลายเป็นการชุมนุมที่ไม่สงบจนเป็นเหตุให้รัฐใช้ความรุนแรงต่อผู้ชุมนุมได้

การที่เจ้าหน้าที่รัฐฉีดน้ำแรงดันสูงและแก็สน้ำตาใส่ผู้ชุมนุมที่เพียงต้องการเข้าไปชุมนุมโดยสงบบริเวณหน้ารัฐสภานั้น ถือเป็นการปฏิบัติหน้าที่ที่ละเมิดต่อเสรีภาพในการชุมนุมตามที่รัฐธรรมนูญและกฎหมายระหว่างประเทศรับรองไว้ ทั้งยังไม่สอดคล้องกับหลักเกณฑ์และแนวปฏิบัติเรื่องการสลายการชุมนุมตามหลักสากล เนื่องจากตามหลักการแล้ว ก่อนใช้กำลังเจ้าหน้าที่ควรต้องพิจารณา (1) หลักความถูกต้องตามกฎหมาย โดยต้องมั่นใจว่ากำลังที่จะใช้ เป็นไปตามข้อกำหนดของตำรวจ สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ (2) หลักความจำเป็นอย่างเข้มงวด กล่าวคือการใช้ความรุนแรงควรเป็นหนทางสุดท้ายในการนำมาใช้ (3) หลักความได้สัดส่วน โดยการใช้กำลังจะต้องเป็นไปตามเป้าประสงค์เพื่อให้บรรลุผลถึงการใช้กฎหมาย ไม่เช่นนั้นจะถือเป็นปฏิบัติเกินกว่าเหตุและไม่ได้สัดส่วน และ(4) หลักความรับผิดรับชอบ เมื่อรัฐเป็นผู้ใช้กำลังทุกครั้ง รัฐจะต้องรับผิดชอบต่อผลเสียหายที่เกิดขึ้น โดยควรจะมีกลไกที่ไม่ใช่การตรวจสอบกันเองภายในองค์กร แต่ต้องมีองค์กรที่ตั้งขึ้นมาตรวจสอบอย่างเป็นอิสระ เพื่อไม่ให้เกิดการลอยนวลความผิด

ในการนี้ สมาคมฯ ขอเรียกร้องให้รัฐบาลและผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ

  1. รัฐต้องยุติการใช้อำนาจที่จำกัดสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก การความคิดเห็น และการชุมนุมโดยสงบของประชาชนทุกกลุ่ม โดยต้องอำนวยความสะดวกให้การชุมนุมเป็นไปโดยสงบโดยทันที
  2. หน่วยงานรัฐและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องต้องรับผิดชอบในทางกฎหมายต่อการกระทำดังกล่าว ทั้งทางแพ่ง อาญา และทางวินัย ถ้าหากมี เพื่อไม่สร้างการสร้างวัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิด และป้องปรามและป้องกันไม่ให้มีการกระทำของเจ้าหน้าที่เช่นนี้เกิดขึ้นอีกในอนาคต
  3. เจ้าหน้าที่ตำรวจต้องปฏิบัติหน้าที่อย่างมืออาชีพ เป็นอิสระ และปฏิบัติหน้าที่ในการบังคับใช้กฎหมายเพื่อผดุงความยุติธรรมและปกป้องสิทธิเสรีภาพของประชาชน โดยไม่ยอมตกเป็นเครื่องมือของบุคคลกลุ่มใด
  4. ให้รัฐสภารับร่างรัฐธรรมนูญทุกฉบับ เพื่อเปิดพื้นที่สันติวิธีที่ประชาชนทุกคนได้มีส่วนร่วมในการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ในทุกประเด็นที่เป็นข้อขัดแย้งทางสังคมอยู่ในปัจจุบัน

 

ด้วยความเคารพต่อสิทธิมนุษยชนและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (สนส.)