ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2566 เว็บ thaingo.org จะปรับค่าบริการจากเดิม 300 บาทเป็น 500 บาท
From January 1, 2023, thaingo.org will adjust job announcement fee from 300 baht to 500 baht.

ThaiNGO team support only thaingo.org and thaingo.in.th.

เว็บไซต์ที่ทีมงาน thaingo ดูแลคือ thaingo.org และ thaingo.in.th เท่านั้น

แถลงการณ์ ขอให้รัฐบาลยุติการใช้ความรุนแรงต่อผู้ที่ออกมาใช้เสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบ

แถลงการณ์

ขอให้รัฐบาลยุติการใช้ความรุนแรงต่อผู้ที่ออกมาใช้เสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบ

 

จากกรณีเจ้าหน้าที่ตำรวจได้นำกำลังเข้าปิดกั้น สกัดและใช้รถฉีดน้ำแรงดังสูงฉีดใส่ประชาชน ที่ออกมาใช้สิทธิเสรีภาพในการชุมนุมเพื่อเรียกร้องให้ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ณ บริเวณหน้าศาลฎีกา เวลาประมาณ 18 นาฬิกาเศษของวันที่ 8 พฤศจิกายน 2563 รวมถึงก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2563 เจ้าหน้าที่ได้ทำการฉีดน้ำที่มีแรงดันสูงและมีสารเคมีใส่ผู้ชุมนุมที่ออกมาเรียกร้องประชาธิปไตย โดยอาศัยอำนาจตามประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในท้องที่กรุงเทพมหานคร เพื่อสลายการชุมนุมของประชาชนที่เรียกตนเองว่าคณะราษฎร ซึ่งได้มีรายงานว่าการสลายการชุมนุมของเจ้าหน้าที่ ทั้งสองเหตุการณ์ทำให้ประชาชนได้รับบาดเจ็บเป็นจำนวนมากนั้น

สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (สนส.) มีความเห็นว่า

1.       การใช้เสรีภาพในการชุมนุมของประชาชนเพื่อเรียกร้องให้ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ โดยมีการจัดกิจกรรมต่าง ๆ อาทิ การอ่านแถลงการณ์ การส่งจดหมายถึงพระมหากษัตริย์ การปราศรัยย่อย และการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ต่าง ๆ นั้น ยังถือเป็นการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ จึงเป็นสิทธิอันชอบธรรมที่ประชาชนพึงกระทำได้ตามที่ถูกรับการรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 44 และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ข้อบทที่ 21 ที่รัฐไทยมีพันธกรณีที่ต้องปฏิบัติตาม ซึ่งการจำกัดใช้เสรีภาพในการชุมนุมดังกล่าวย่อมกระทำไม่ได้ การอาศัยเพียงข้อเท็จจริงที่ว่าผู้ชุมนุมไม่ปฏิบัติตามกฎหมายภายในประเทศเกี่ยวกับการชุมนุมบางประการ ไม่อาจทำให้การชุมนุมนั้นกลายเป็นการชุมนุมที่ไม่สงบจนเป็นเหตุให้รัฐใช้ความรุนแรงต่อผู้ชุมนุมได้ หากรัฐต้องการจำกัดเสรีภาพในการชุมนุม รัฐพึงต้องพิสูจน์ให้เห็นถึงความชอบธรรมทางกฎหมาย และความจำเป็นและได้สัดส่วนในการจำกัดเสรีภาพในการชุมนุมภายใต้บริบทของสังคมประชาธิปไตย และต้องอธิบายได้อย่างชัดแจ้งว่าการจำกัดนั้นเป็นไปเพื่อประโยชน์แห่งความมั่นคงของชาติ หรือความปลอดภัย ความสงบเรียบร้อย การสาธารณสุข หรือศีลธรรมของประชาชนหรือการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของบุคคลอื่นด้วย มิใช่แต่เพียงการกล่าวอ้างอย่างคลุมเครือ

2.       การแสดงออกในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อเรียกร้องให้มีการปฎิรูปสถาบันกษัตริย์ ในฐานะสถาบันทางการเมืองที่สำคัญของประเทศให้ดำรงอยู่อย่างสอดคล้องกับหลักการประชาธิปไตยและอยู่เหนือการเมืองอย่างแท้จริง โดยไม่ได้ยั่วยุให้เกิดความเกลียดชัง ถึงขั้นยุยงให้ใช้ความรุนแรงต่อเป้าหมายนั้น (hate speech) ย่อมเป็นเสรีภาพในการแสดงออกที่ประชาชนพึงกระทำได้ภายใต้หลักการที่ถูกรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 34  และกติการระหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ข้อบทที่ 19 จึงย่อมเป็นสิทธิอันชอบธรรมในสังคมประชาธิปไตยที่ประชาชนพึ่งกระทำได้เช่นกัน

3.       การที่เจ้าหน้าที่รัฐฉีดน้ำแรงดันสูงต่อผู้ชุมนุมที่ยังชุมนุมโดยสงบนั้น ถือเป็นการปฏิบัติหน้าที่ที่ละเมิดต่อเสรีภาพในการชุมนุมตามที่รัฐธรรมนูญและกฎหมายระหว่างประเทศรับรองไว้ ทั้งยังไม่สอดคล้องกับหลักเกณฑ์และแนวปฏิบัติตามพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 การกระทำดังกล่าวจึงเข้าข่ายเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เป็นการใช้ความรุนแรงเกินกว่าเหตุและไม่ได้สัดส่วน

 

ในการนี้ สมาคมฯ ขอเรียกร้องให้รัฐบาลและผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ

1. รัฐต้องยุติการใช้อำนาจที่จำกัดสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก การความคิดเห็น และการชุมนุมโดยสงบของประชาชนทุกกลุ่ม โดยต้องอำนวยความสะดวกให้การชุมนุมเป็นไปโดยสงบและป้องกันความรุนแรงที่อาจเกิดขึ้นจากภายนอก

2.  หน่วยงานรัฐและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องต้องรับผิดชอบในทางกฎหมายต่อการกระทำดังกล่าว ทั้งทางแพ่ง อาญา และทางวินัย ถ้าหากมี โดยขอให้มีการสอบสวนทางวินัยโดยเร่งด่วนกับ พล.ต.ต.เมธี รักพันธุ์ ผบก.น.6 ในฐานะผู้บัญชาการควบคุมสถานการณ์ ซึ่งเป็นผู้ที่มีอำนาจในการสั่งการให้มีฉีดน้ำแรงดันสูงใส่ผู้ชุมนุม เพื่อไม่สร้างการสร้างวัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิด และป้องปรามและป้องกันไม่ให้มีการกระทำของเจ้าหน้าที่เช่นนี้เกิดขึ้นอีกในอนาคต

3. เจ้าหน้าที่ตำรวจต้องปฏิบัติหน้าที่อย่างมืออาชีพ เป็นอิสระ และปฏิบัติหน้าที่ในการบังคับใช้กฎหมายเพื่อผดุงความยุติธรรมและปกป้องสิทธิเสรีภาพของประชาชน โดยไม่ยอมตกเป็นเครื่องมือของบุคคลกลุ่มใดที่มุ่งใช้กระบวนการยุติธรรมเป็นเครื่องมือกลั่นแกล้งทางการเมืองกับผู้เห็นต่าง ๆ  ทั้งนี้ เพื่อร่วมกันฟื้นฟูกระบวนการยุติธรรมให้ได้รับควมน่าเชื่อถือและเชื่อมั่นจากประชาชนอีกครั้ง

 

ด้วยความเคารพต่อสิทธิมนุษยชนและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์