ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2566 เว็บ thaingo.org จะปรับค่าบริการจากเดิม 300 บาทเป็น 500 บาท
From January 1, 2023, thaingo.org will adjust job announcement fee from 300 baht to 500 baht.

ThaiNGO team support only thaingo.org and thaingo.in.th.

เว็บไซต์ที่ทีมงาน thaingo ดูแลคือ thaingo.org และ thaingo.in.th เท่านั้น

กลุ่มอนุรักษ์ฯ แลกเปลี่ยนประสบการณ์การต่อสู้ เติมพลังใจพร้อมสู้ต่อ กับกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด 6 หมู่บ้าน รอบเหมืองแร่ทองคำ จังหวัดเลย

 

          25 ตุลาคม 2563 ชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์ป่าชุมชนเขาเหล่าใหญ่-ผาจันได กว่า 10 คน เดินทางไปยังบ้านนาหนองบง ตำบลเขาหลวง อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย เพื่อลงพื้นที่เรียนรู้บริเวณที่เคยเป็นพื้นที่ทำเหมืองแร่ทองคำ และแลกเปลี่ยนประสบการณ์และถอดบทเรียนการต่อสู้คัดค้านเหมืองแร่ทองคำ รวมทั้งยังมีการแลกเปลี่ยนเรื่องแผนการฟื้นฟูเหมืองแร่ทองคำฉบับภาคประชาชนกับกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด 6 หมู่บ้าน รอบเหมืองแร่ทองคำ จังหวัดเลย

          โดยการทำเหมืองแร่ทองคำบนภูทับฟ้าและภูซำป่าบอน ตำบลเขาหลวง อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย ของบริษัท ทุ่งคำ จำกัด ได้เริ่มดำเนินการเมื่อปี 2549 ซึ่งหลังจากดำเนินการได้เพียงไม่นานก็เริ่มส่งผลกระทบต่อประชาชนที่อาศัยอยู่รอบพื้นที่เหมืองแร่ทองคำ ชาวบ้านจึงได้รวมตัวกันในนามกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด 6 หมู่บ้าน รอบเหมืองแร่ทองคำ จังหวัดเลย เคลื่อนไหวคัดค้านการทำเหมืองแร่ทองคำและขอให้มีการตรวจสอบผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากกิจกรรมของเหมืองแร่ทองคำต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งผลการตรวจสอบพบว่าแหล่งน้ำและแหล่งอาหารของชุมชนปนเปื้อนด้วยสารพิษจำพวกไซยาไนด์ ตะกั่ว ปรอท แคดเมียม และแมงกานีส และยังมีการตรวจพบสารพิษปนเปื้อนอยู่ในกระแสเลือดของชาวบ้านเกินค่ามาตรฐาน นอกจากนี้การทำเหมืองแร่ทองคำยังก่อให้เกิดความขัดแย้งจนเกิดความแตกแยกในชุมชน การละเมิดสิทธิชุมชน การทำร้ายร่างกาย บังคับ ข่มขู่ ตลอดจนการฟ้องร้องเพื่อกลั่นแกล้งถึง 27 คดี

          ซึ่งการปิดเหมืองแร่ทองคำเกิดขึ้นหลังจากที่กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด 6 หมู่บ้าน รอบเหมืองแร่ทองคำ จังหวัดเลย ได้ยื่นฟ้องบริษัทดังกล่าวในข้อหาฐานความผิดกระทำละเมิดและเรียกค่าเสียหาย ตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมและคุ้มครองคุณภาพสิ่งแวดล้อมฯ และ พ.ร.บ.การสาธารณสุขฯ โดยเมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2561 ศาลได้พิพากษาให้บริษัทฯ ชดใช้ค่าเสียหายจากการทำเหมืองแร่ทองคำที่ส่งผลกระทบต่อสังคม สุขภาพ และสิ่งแวดล้อมให้แก่ชาวบ้าน 149 ราย รายละ 104,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 18 มกราคม 2561) เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จสิ้น และให้บริษัทฯ แก้ไขฟื้นฟูพื้นที่รอบเหมืองแร่ทองคำด้วยค่าใช้จ่ายของบริษัทฯ จนกว่าพื้นที่เหมืองแร่ทองคำจะมีสภาพที่ใช้อุปโภคบริโภคได้ตามเกณฑ์มาตรฐานของทางราชการ โดยให้ชาวบ้านมีส่วนร่วมในการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมด้วย

          และที่ผ่านมาชาวบ้านกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด 6 หมู่บ้าน รอบเหมืองแร่ทองคำ จังหวัดเลย ได้เริ่มจัดทำแผนฟื้นฟูเหมืองแร่ทองคำฉบับภาคประชาชนขึ้น เพื่อเป็นกรอบคิดริเริ่มในการเชิญชวนภาคประชาชนและหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง เข้ามาปรึกษาหารือและร่วมผลักดันให้เกิดการฟื้นฟูเหมืองแร่ทองคำขึ้นมาให้ได้ในอนาคต โดยมีเป้าหมายในการฟื้นฟูว่า “คนปลอดภัย สิ่งแวดล้อมปลอดภัย มีความหลากหลายของอยู่ของกิน หนี้สินลด หมดความขัดแย้ง เป็นแหล่งเรียนรู้ ฟื้นฟูชุมชน” ในขณะที่กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ กรมควบคุมมลพิษ และหน่วยงานอื่น ๆ ก็ได้พยายามจัดทำแผนและเสนอแผนการฟื้นฟูการปนเปื้อนบริเวณในและรอบเหมืองแร่ทองคำของบริษัท ทุ่งคำ จำกัด แต่กลับละเลยกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่

          โดยนายสุรพันธ์ รุจิไชยวัฒน์ กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดฯ กล่าวว่า “การต่อสู้ของพี่น้องเรากว่าจะมาถึงวันนี้ เราได้เรียนรู้เรื่องกฎหมายแร่ เรียนรู้สิทธิและได้เดินทางไปแลกเปลี่ยนประสบการณ์จากกรณีเหมืองแร่หลายพื้นที่ จนได้นำบทเรียนและประสบการณ์มาปรับเปลี่ยนใช้ในการต่อสู้ ขณะที่ได้เดินทางยื่นหนังสือร้องเรียนต่อหน่วยงานต่าง ๆ หลายหน่วยงาน จนถึงการฟ้องศาล ทั้งศาลปกครองและศาลอาญา มีทั้งแพ้คดีและชนะคดี แต่เราก็ยังสู้ต่อไป”

          ด้านนางวิรอน รุจิไชยวัฒน์ กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดฯ ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า “ในการเคลื่อนไหวของกลุ่มอนุรักษ์ฯ หลังจากนี้ ควรมีกิจกรรมรณรงค์ทางด้านสิ่งแวดล้อมเพื่อระดมทุนในการเคลื่อนไหวต่อไป”

          ขณะที่นางสาวเพียงยล พุทธบุญยัง ชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์ฯ ได้เผยถึงความรู้สึกว่า “พื้นที่เหมืองแร่ทองคำใหญ่มาก ใหญ่ขนาดนี้กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดยังปิดได้ การมาเห็นความสำเร็จในการสู้ครั้งนี้ทำให้มีไฟในตัวเพิ่มขึ้นและยังมีกำลังใจในการสู้ต่อไป และเราต้องทำให้ได้แบบที่กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดทำเหมือนกัน”

          และนายนัฐวุฒิ ภาโนมัย ชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์ฯ ก็ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า “ตอนไปเห็นประตูทางเข้าแล้วรู้สึกว่ากลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดมีการจัดระบบที่ดีมาก ได้เห็นการเฝ้าเหมืองของแม่ ๆ กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดก็รู้สึกประทับใจ การมาครั้งนี้ได้พบได้เห็นแล้วมีพลังที่จะสู้ต่อ เหมือนได้เติมพลังใจ ถ้ากลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดทำได้เราก็ต้องทำได้เหมือนกัน”

          ทั้งนี้การลงพื้นที่เรียนรู้และแลกเปลี่ยนประสบการณ์การต่อสู้ระหว่างชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์ป่าชุมชนเขาเหล่าใหญ่-ผาจันไดและกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด 6 หมู่บ้าน รอบเหมืองแร่ทองคำ จังหวัดเลย นับว่าเป็นครั้งที่ 2 แล้ว หลังจากที่ชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์ฯ ได้ชุมนุมปิดเหมืองและโรงโม่หิน และคาดว่าในอนาคตเร็ว ๆ นี้ จะมีครั้งที่ 3 เนื่องจากยังมีชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์ฯ อีกจำนวนมากที่ต้องการลงพื้นที่เรียนรู้และแลกเปลี่ยนประสบการณ์การต่อสู้

///////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////