Back

ความหวังของชาวนา

29 October 2020

3042

ความหวังของชาวนา

เมื่อวาน ขับรถเลาะล่องไปละแวกบ้านเกิด ปราสาท สุรินทร์ ศรีขรภูมิ สำโรงทาบ สุดสายที่ห้วยทับทัน ศรีสะเกษ
สังเกตได้ว่า เวิ้งว้าง ทุ่งถิ่นแถบนี้ มีลักษณะเดียวกัน ทั้งผู้คน ภาษา และวัฒนธรรม และอาจจะคล้ายกันไปจนถึงปรางกู่ สังขะ ลำดวน ขุขันธ์ รัตนะ และอีก หลายๆ อำเภอ
ความคล้ายนี้ รวมถึงอาชีพ คือ เกษตร ทำนา ไม่มีภูเขา ป่า ถ้าเมื่อสัก
20 ปีก่อน เราจะเรียก พื้นที่รวมๆ นี้ว่า ภูมินิเวศวัฒนธรรม

หลายปีมานี้ เรามีรัฐบาลที่มาจากทหาร และ ข้าราชการ การพัฒนา ผลักดัน คุณภาพชีวิต อาชีพกับกลุ่มเกษตร เหล่านี้ ถดถอยไปมาก ความยากทางนโยบายในการส่งเสริมสนับสนุน ศักยภาพทางอาชีพในท้องถิ่นแถบนี้ เป็นเรื่องยาก ใช้เวลา ในการเข้าใจและปรับเปลี่ยน เพราะส่วนใหญ่ทำนา ว่างจากนาก็เลี้ยงสัตว์ และทอผ้าไหม สภาพเศรษฐกิจจึงคล้ายๆ กัน

การพัฒนาจึงต้องใช้วิสัยทัศน์ ใช้พลังจากท้องถิ่น ใช้ความรู้ การจัดการสมัยใหม่ รวมถึง กฎหมาย และ นโยบายที่เอื้ออำนวย ไม่อย่างนั้น มืดมนหนทางมาก โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่ข้าวไทย หรือ ข้าวมะลิ กำลังร่วงหล่นจากความนิยมในตลาดโลก

 

ผมคิดตลอดว่า ทำไมเราต้อง เปลี่ยนแปลงอะไรหลายๆ อย่าง ในประเทศนี้ เพื่อหาทางข้ามไปให้พ้นสภาวะความจมปลักดักดาน ที่มาจากโครงสร้างอำนาจ รวมศูนย์
 

De Simone 1รวมถึง แบรนด์ สวนซีโมน คือ โมเดลที่ผมพยายามทดลองทำ จริงๆ จังๆ ในเรื่องการพัฒนา การสร้างผลิตภัณฑ์ ตลาด ช่องทาง ทั้งทุน ทั้งตลาดและ การปรับปเลี่ยนพฤติกรรมเกษตรกร รวมถึงทัศนะ ชาวบ้าน เพื่อให้หันมาสนใจ ศักยภาพของตัวเอง ของลูกหลาน และเครื่องมือเทคโนโลยีสื่อสารสมัยใหม่ เพื่อทำให้เราสร้างช่องทางการเปลี่ยนแปลงอาชีพ รายได้ และ ที่สำคัญที่สุด คือ ความหวังใหม่ๆ ในชีวิต

ซีโมน เดินทางมา
3-4 ปี ได้ปฏิสัมพันธ์ กับกลไกราชการ ทุกหน่วยงาน มองเห็นศักยภาพ ข้อจำกัด และปัญหาอุปสรรค หลากหลายมาก  ตั้งแต่วัฒนธรรมชุมชน  หน่วยงานท้องถิ่น อบต. ไปจนถึงพาณิชย์จังหวัด อุตสาหกรรมจังหวัด สาธารณสุข (อย.) พัฒนาชุมชน (OTOP) ธนาคาร SME ธนาคารเกษตรฯ  สิ่งที่เห็นบ้าง คือ ความตั้งใจ แต่สิ่งที่เห็นน้อย คือ ความเข้าใจ และที่ไม่เห็นเลย หรือ กระท่อนกระแท่นมาก คือ ความใส่ใจจริงจังทาง นโยบาย

แถมกรณีจังหวัดสุรินทร์ ยิ่งเป็นนโยบายเลือกปฏิบัติ เฉพาะกลุ่ม บุคคล ที่เข้าถึงหรืออยู่ในเป้าหมายตัวเอง ซึ่งหลายครั้งก็เป็นกลุ่มหน้าเดิมๆ ด้วยวิธีการเดิมๆ แล้วก็จบลงหรือกลับมา จุดเดิมๆ ยิ่งการสนับสนุนภาคเกษตรยิ่งทุ่มโถมงบประมาณหมดไปเยอะมากกับ โครงการหรืองานโฆษณาชวนเชื่อ จำพวกปรัชญาการเกษตร อาทิ เศรษฐกิจพอเพียง โคกหนองนาโมเดล ฯลฯ ซึ่งเป็นมหากาพย์การพัฒนาชุมชนที่ประโลมโลกมาก

ชาวบ้าน หรือ ชาวนา ต้องการมาตรการที่ฉลาด แบบรัฐได้ประโยชน์ ประชาชนอยู่ได้ มีความหวัง ไม่ใช่ นโยบายประทัง แจกเงิน แจกปุ๋ย  ที่น้อยนิด ไม่พอยาไส้
300 บาท 500 บาท ในขณะที่ปลาทูเข่งละ 40-50 บาท

เราผืนดิน กว้างใหญ่ไพศาล เรามีแรงงานที่ค่อนข้างมีฝีมือ หรือพัฒนาฝีมือได้ แต่เราไม่เคยมี รัฐบาล ที่มีศักยภาพจริงๆ รวมถึง กลไกราชการ ที่ทำงานได้ประสิทธิผล คุ้มค่าภาษีหรืองบประมาณ ส่วนมาก เราทำทิ้งทำขว้าง ให้หมดไป ปีๆ มีภาพรายงาน มีเอกสารว่าทำงาน และตัวเลขหลอกๆ

เราสูญเสียเวลา โอกาส ไปเปล่าๆ มานาน หลังจากที่ประเทศกระตุกตื่น มีชีวิตชีวา มีรายได้ท้วมท้น มีความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจนระดับฐานราก อย่างน่าตกใจ จากนั้น ก็ทรุดซบเซา ลากยาวต่อเนื่อง ไปพร้อมๆ กับการเมืองไทย ที่ผู้คนลากยาว ความรักชาติ เอาสถาบันมา มาเล่นเกม กดทับ กำจัด ศัตรูทางการเมือง ที่มีผลประโยชน์อยู่เบื้องหลังจนเลอะเทะ

ชีวิตชาวนา วิถีการผลิตอาหารสู่สังคม ของผู้คนในเวิ้งทุ่งนี้ ที่กินพื้นที่เกือบ
5 จังหวัด สุรินทร์ ร้อยเอ็ด สารคาม บุรีรัมย์ และศรีสะเกษ ยังฝันร้ายกล้ำกลืนผจญเผชิญชะตากรรม เดิมๆ ในขณะที่ฝนฟ้า นาข้าว แคะแกร็น ไม่ได้ผลหรือ ได้ผลน้อยลงทุกปี ราคาก็ตกต่ำ ทุกปี สวนทางกับ ต้นทุนการผลิต ที่สูงขึ้นทุกปี

ผมยืนมองนาข้าว ที่พังพินาศ เพราะธรรมชาติ วิถีชีวิตที่ใกล้พังพินาศ เพราะความเขลาไร้วิสัยทัศน์ทางนโยบาย ความหวังที่พังพินาศ เพราะ รัฐและรัฐบาล จมปลักเวียนวนกับการทะเลาะกับประชาชน กับการจมปลักแต่เรื่องรักชาติ และกำจัดคนเห็นต่าง

ในขณะที่คนทั้งหมด พุ่งความสนใจไปที่บ้านเมือง ชีวิตชาวนาอย่างพวกเรา ก็ถึงเวลาเก็บเกี่ยว เงินจะจ้างบางคนก็ยังไม่มี ลูกหลานก็หายหน้าไปทำงาน ทำอาชีพอื่นหมด ความเศร้าและปวดแปล๊บ แผ่ซ่านไปในความคิด... ไม่เป็นไร อย่างน้อยๆ ผมก็ได้ยื่นมือทำอะไรบ้าง แม้น้อยนิด น้อยมากๆๆๆๆ  แต่ก็ยังรู้สึกดีที่ได้ทำ

 

ผมจะคัดข้าวดีๆ มาช่วยขาย ช่วยได้สักครอบครัว สองครอบครัวก็ยังดีกว่า ไม่ช่วยอะไรเลย

และวันนี้ เราจะลับมาช่วยแรงกัน... ลงแขกเกี่ยวข้าวนาตาเชย เด้อ...
!!   โมๆๆๆๆๆ
..............................................


จาเกษตรกรขบถ แห่งไร่ทวนลม

About Us

เว็บไทยเอ็นจีโอ สนับสนุนการใช้สัญญาอนุญาตครีเอทีฟคอมมอนส์และเผยแพร่แนวคิดวัฒนธรรมเสรี เนื้อหาในเว็บไซต์ไทยเอ็นจีโอดอทโออาจี ท่านสามารถเอาไปใช้งานได้เลยโดยไม่ต้องขออนุญาต เพียงท่านระบุที่มาและห้ามทำการค้า

ThaiNGO Team

ติดต่อประสานงาน - Contact
Tel : 099-014-3797

ทศพร แกล้วการไร่ : ผู้ดูแลเว็บ - Webmaster
Tel : 080-078-4016

อัฎธิชัย ศิริเทศ : บรรณาธิการ - Editor
Tel : 082-178-3849

Email : webmaster@thaingo.org

Office Hours : Mon-Fri , 9.00-17.00

Contact Info

2044/23 ถ.เพชรบุรีตัดใหม่ บางกะปิ ห้วยขวาง กรุงเทพ 10310

2044/23 New Phetchaburi Road, Bangkapi, Huai Khwang, Bankok 10310

+662 314 4112