ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2566 เว็บ thaingo.org จะปรับค่าบริการจากเดิม 300 บาทเป็น 500 บาท
From January 1, 2023, thaingo.org will adjust job announcement fee from 300 baht to 500 baht.

ThaiNGO team support only thaingo.org and thaingo.in.th.

เว็บไซต์ที่ทีมงาน thaingo ดูแลคือ thaingo.org และ thaingo.in.th เท่านั้น

รุกไม่หยุด  กลุ่มอนุรักษ์ฯเดินหน้ายื่นหนังสือ อบต.ดงมะไฟ ยันไม่ให้นำวาระการพิจารณาขออนุญาตใช้พื้นที่ป่าสงวนทำเหมืองแร่เข้าสู่การประชุมสภา

รุกไม่หยุด  กลุ่มอนุรักษ์ฯเดินหน้ายื่นหนังสือ อบต.ดงมะไฟ ยันไม่ให้นำวาระการพิจารณาขออนุญาตใช้พื้นที่ป่าสงวนทำเหมืองแร่เข้าสู่การประชุมสภา

 

          19 ตุลาคม 63 เวลาประมาณ 10.30 น. ชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์ป่าชุมชนเขาเหล่าใหญ่ - ผาจันได ประมาณ 20 คน ได้เดินทางไปยื่นหนังสือต่อนายกองค์การบริหารส่วนตำบลดงมะไฟ เพื่อไม่ให้นำวาระการพิจารจารณาการใช้พื้นที่ป่าสงวนเพื่อทำเหมืองแร่ ของนายธีรสิทธิ์  ตรีวัฒน์สุวรรณ เข้าสู่วาระการประชุม

          โดยภายหลังจากที่ชาวบ้านได้ทราบข้อมูลว่า นายธีรสิทธิ์  ตรีวัฒน์สุวรรณ ได้ยื่นหนังสือถึงนายก อบต.ดงมะไฟ ให้เป็นผู้เสนอวาระดังกล่าวเข้าที่ประชุมด้วยตนเอง ไม่ได้ยื่นขอผ่านสภาฯ อบต.ดงมะไฟ อีกต่อไป ซึ่งอาจเป็นเพราะว่าในการเสนอวาระจนมีมติได้สำเร็จใน 2 ครั้งที่ผ่านมา ที่เป็นการเสนอผ่านสภาฯ นั้น ล้วนแล้วแต่เป็นการลงมติที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายทั้งสิ้น และถูกเพิกถอนทั้งสองครั้ง จนทำให้มีการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบพฤติกรรมของประธาน สภาฯ อยู่ในขณะนี้

          ในหนังสือ ชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์ฯ ได้ให้เหตุผลที่นายก อบต.ดงมะไฟ ไม่ควรนำวาระนี้เข้าสู่สภาฯ เนื่องจากทางจังหวัดได้มีคำสั่งให้ต้องมีการพิจารณารวบรวมเอกสารหลักฐานประกอบการพิจารณา เช่น หลักฐานการประชาคม เอกสารการชำระภาษี รายงานศึกษาผลกระทบ เอกสารกองทุนผู้ได้รับผลกระทบ และหลักฐานตามระเบียบกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ซึ่งในพื้นที่ไม่เคยมีการประชาคมที่ถูกต้องตามกฎหมายในเรื่องดังกล่าวแต่อย่างใด อีกทั้ง เมื่อตัวแทนกลุ่มได้ไปขอข้อมูล รายงานผลการปฏิบัติตามมาตรการป้องกันแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมและการติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อม ของบริษัทเหมืองแร่ ที่ต้องรายงานทุก 6 เดือน กลับพบว่า อบต.ดงมะไฟ ไม่เคยมีเอกสารดังกล่าว แล้วเช่นนี้จะสามารถพิจารณาเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับการอนุญาตใช้พื้นที่เหมืองแร่ได้อย่างไร ในเมื่อสมาชิก อบต. ไม่มีทางทราบได้เลยว่า ตลอดหลายปีที่ผ่านมา เหมืองหินแห่งนี้ มีการทำตามมาตรการ EIA จริงหรือไม่

          นอกจากนี้ทางกลุ่มอนุรักษ์ฯ ยังให้เหตุผลเพิ่มเติมที่สำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คือการที่พื้นที่นี้ ไม่ได้อยู่ในเขตแหล่งแร่เพื่อการทำเหมือง ที่ต้องมีการตรวจสอบและกันพื้นที่แหล่งโบราณคดี และแหล่งน้ำซับซึม ตามมาตรา 17 วรรค 4 ออกจากพื้นที่ประทานบัตร และการทำเหมืองแร่ในพื้นที่ก็ยังปรากฏข้อสงสัยที่ต้องตรวจสอบอีกหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของหมุดเหมืองแร่ หรือการออกประทานบัตรนอกเขตประกาศแหล่งหินที่ขณะนี้อยู่ในระหว่างการตรวจสอบ ปัญหาผลกระทบที่ไม่เคยได้รับการแก้ไข และการบุกรุกเขตป่าสงวนแห่งชาติ ที่ทางกลุ่มอนุรักษ์ฯได้ยื่นหนังสือร้องเรียนไปยังหน่วยงานต่างๆ เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

          เหตุผลเหล่านี้จึงเป็นเหตุผลสำคัญที่กลุ่มอนุรักษ์ฯเห็นว่า อบต.ดงมะไฟ ไม่ควรนำวาระนี้เข้าสู่การประชุมสภา หากไม่มีการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น ไม่ตรวจสอบเรื่องราวตามข้อร้องเรียน อบต.ดงมะไฟ ย่อมไม่มีความชอบธรรมใดๆ ในการพิจารณาวาระดังกล่าว หากยังฝืนนำวาระดังกล่าวเข้าสู่สภาฯ โดยไม่สนใจแก้ปัญหาข้างต้น ย่อมเป็นที่ชัดเจนว่า อบต.ดงมะไฟ จงใจเอื้อผลประโยชน์ให้แก่บริษัทเหมืองแร่ โดยไม่สนใจฟังเสียงประชาชน

          โดยในวันนี้ เจ้าหน้าที่ของ อบต.ดงมะไฟแจ้งว่า นายทองคำ บุตรโคตร นายก อบต.ดงมะไฟ ติดประชุม ไม่สามารถมารับหนังสือกับชาวบ้านได้ จึงได้ให้นายสมพร อุตรักษ์ ตำแหน่ง นักวิเคราะห์นโยบายและแผน เป็นผู้รับหนังสือกับชาวบ้าน

          ในวันนี้ตัวแทนกลุ่มอนุรักษ์ฯ ยืนยันว่า เราจะติดตามความเคลื่อนไหวของ อบต.ดงมะไฟอย่างใกล้ชิด จะไม่ยอมให้มีการนำวาระเรื่องเหมืองแร่เข้าสู่สภาอีกต่อไป หากเขาเอาวาระเข้าพิจารณาอีก แสดงว่าเขาไม่สนใจชาวบ้าน ไม่สนใจว่าเราเดือดร้อน ถ้ามันจะไปประชุมข้างนอกอีกก็จะตามมันไป