23 September 2020
1899
กฎหมายแร่ฉบับใหม่ หรือพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2560 เขียนไว้ในมาตรา 125 ว่า อธิบดีหรือเจ้าพนักงานอุตสาหกรรมแร่ประจําท้องที่ มีอํานาจสั่งยกคําขอประทานบัตรได้ เมื่อผู้ยื่นคําขอกระทําการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติในหมวด 5 หรือรู้เห็นเป็นใจในการกระทำเช่นว่านั้น
และมาตรา 52 ของหมวด 5 เขียนว่า การขอและการออกประทานบัตร และคุณสมบัติของผู้ยื่นคําขอ ให้เป็นไปตาม
หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กําหนดในกฎกระทรวง
และกฎกระทรวงดังกล่าวต้องกําหนดหลักเกณฑ์ในการพิจารณาอนุญาตให้สอดคล้องกับบทบัญญัติในมาตรา 19
และสาระสำคัญของมาตรา 19 ระบุว่า เพื่อประโยชน์ในการบริหารจัดการแร่ การอนุญาตให้ทําเหมืองให้พิจารณาอนุญาตได้เฉพาะในพื้นที่ที่แผนแม่บทการบริหารจัดการแร่กําหนดให้เป็น ‘เขตแหล่งแร่เพื่อการทําเหมือง’ เท่านั้น
และเมื่อดูสาระสำคัญตามมาตรา 17 วรรคสี่ ที่เขียนว่า “พื้นที่ที่จะกําหนดให้เป็น ‘เขตแหล่งแร่เพื่อการทําเหมือง’ ต้องไม่ใช่พื้นที่ในเขตอุทยานแห่งชาติตามกฎหมายว่าด้วยอุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าตามกฎหมายว่าด้วยการสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า เขตโบราณสถานที่ได้ขึ้นทะเบียนไว้ตามกฎหมายว่าด้วยโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑ์
สถานแห่งชาติ เขตพื้นที่ที่มีกฎหมายห้ามการเข้าใช้ประโยชน์โดยเด็ดขาด พื้นที่เขตปลอดภัยและความมั่นคงแห่งชาติ หรือพื้นที่แหล่งต้นน้ำหรือป่าน้ำซับซึม” แล้ว
จะเห็นได้ว่าการ ‘ยื่น’ และ ‘รับ’ (1) คำขอต่ออายุ ‘ใบอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยภายในเขตป่าสงวนแห่งชาติ เพื่อทำเหมืองหินปูน’ พื้นที่ 175 ไร่ บนภูผาฮวก ไปอีกสิบปี จนกระทั่งถึงปี 2573 ซึ่งพวกเราได้ทำการเข้ายึดเหมือง
เพื่อเปลี่ยนเขตเหมืองแร่เป็นเขตป่าชุมชนเรียบร้อยแล้วในวันที่ 4 กันยายนที่ผ่านมา เนื่องจากยังไม่ได้รับการต่ออายุก่อน
วันที่ 3 กันยายนที่ผ่านมา และ (2) คำขอต่ออายุ ‘ใบประทานบัตรทำเหมืองหินปูน’ พื้นที่ 175 ไร่ บนภูผาฮวก ไปอีกสิบปี จนกระทั่งถึงปี 2573 ซึ่งเป็นพื้นที่เดียวกันกับข้อ (1) ที่จะหมดอายุในวันที่ 24 กันยายนนี้ และคงไม่ได้รับการต่ออายุไปอีกสิบปีก่อนวันที่ 24 กันยายนนี้อย่างแน่นอน เป็นการยื่นและรับคำขอโดยมิชอบตามกฎหมายแร่ฉบับใหม่
เนื่องจากภูผาฮวกเป็นพื้นที่ที่ไม่เข้าข่ายเป็น ‘เขตแหล่งแร่เพื่อการทำเหมือง’ ตามมาตรา 17 วรรคสี่ แต่อย่างใด เพราะพบโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ มีทั้งภาพเขียนสีและเครื่องปั้นดินเผาอายุเก่าแก่ไม่ต่ำกว่า 1,500 - 3,000 ปี และเป็นแหล่งต้นน้ำหรือป่าน้ำซับซึม มีทั้งโถงถ้ำและตาน้ำที่เป็นบ่อเกิดลำธาร
จึงต้องถูกกันออกจากการเป็น ‘เขตแหล่งแร่เพื่อการทำเหมือง’
ดังนั้น นายธีรสิทธิ ตรีวัฒน์สุวรรณ หรือบริษัท ธ.ศิลาสิทธิ จำกัด และหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้
จึงไม่ควรยื่นและรับคำขอต่ออายุใบอนุญาตทั้งสองตั้งแต่ต้น เพราะเป็นคำขอต่ออายุใบอนุญาตที่มิชอบตามกฎหมายแร่ฉบับใหม่
แต่เมื่อนายธีรสิทธิ ตรีวัฒน์สุวรรณ หรือบริษัท ธ.ศิลาสิทธิ จำกัด ยื่นคำขอ และหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องรับคำขอมาแล้ว นายธีรสิทธิ ตรีวัฒน์สุวรรณ หรือบริษัท ธ.ศิลาสิทธิ จำกัด และหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง ควรรีบดำเนินการเพื่อขอคืนหรือยกคำขอต่ออายุใบอนุญาตทั้งสองออกไปจากสารบบโดยเร็ว
ไม่ใช่ค้างคำขอต่ออายุใบอนุญาตทั้งสองไว้ เพื่อหวังว่าจะต่ออายุใบอนุญาตทั้งสองให้ได้สักวันหนึ่งข้างหน้า
มิฉะนั้น จะถือว่านายธีรสิทธิ ตรีวัฒน์สุวรรณ หรือบริษัท ธ.ศิลาสิทธิ จำกัด และหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องกระทำการฝ่าฝืนกฎหมาย ซึ่งมีโทษทั้งจำคุกและปรับ
จึงขอชี้แจงให้สาธารณชนได้รับทราบโดยทั่วกัน
ให้เหมืองและโรงโม่หินจบที่รุ่นเรา
กลุ่มอนุรักษ์ป่าชุมชนเขาเหล่าใหญ่-ผาจันได
20 กันยายน 2563