Back

เครือข่ายเมืองปลอดภัยเพื่อผู้หญิงผนึกจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยชูแคมเปญ #ทีมเผือกneighborhood  หรือ “ทีมเผือกชุมชน”

12 May 2020

5646

เครือข่ายเมืองปลอดภัยเพื่อผู้หญิงผนึกจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยชูแคมเปญ #ทีมเผือกneighborhood  หรือ “ทีมเผือกชุมชน”

ครือข่ายเมืองปลอดภัยเพื่อผู้หญิงผนึกจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยชูแคมเปญ #ทีมเผือกneighborhood  หรือ ทีมเผือกชุมชนเฝ้าระวังความรุนแรงในครอบครัว ช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 พร้อมเปิดตัว แอพพลิเคชั่น iCanPlan  เทคโนโลยีประเมินความสัมพันธ์ชีวิตคู่ เผย บ้านไม่ใช่ที่ปลอดภัยสำหรับทุกคน ยกสถิติ ผู้หญิงถูกทำร้ายสูงกว่าสถานการณ์ปกติ ชี้ สาเหตุจากความเครียด ต้องอยู่บ้าน24 ชม.-ตกงาน-รายได้ลด ขณะที่งานวิจัยชี้ 1ใน6 ของหญิงไทยเจอความรุนแรงในครอบครัว และมีถึง 78 เปอร์เซ็นต์ไม่เคยขอความช่วยเหลือ

 

เครือข่ายเมืองปลอดภัยเพื่อผู้หญิง โดย แผนงานสุขภาวะผู้หญิงและความเป็นธรรมทางเพศ และองค์กรแอ็คชั่นเอด ประเทศไทย ร่วมกับวิทยาลัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทีมวิจัยและพัฒนาแอพพลิเคชั่น iCanPlan  เปิดตัวแคมเปญ #ทีมเผือกneighborhood เพื่อชวนประชาชนมีส่วนร่วมในการสังเกตการณ์เฝ้าระวัง ป้องกัน และแก้ไขปัญหาความรุนแรงในครอบครัว ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 พร้อมเปิดตัว แอพพลิเคชั่น iCanPlan” เครื่องมือที่สามารถเช็คระดับความรุนแรงในครอบครัว

 

ดร.วราภรณ์ แช่มสนิท ผู้จัดการแผนงานสุขภาวะผู้หญิงและความเป็นธรรมทางเพศ กล่าวว่า เป้าหมายของเครือข่ายเมืองปลอดภัยเพื่อผู้หญิงคือการสร้างพื้นที่ปลอดภัยกับผู้หญิงในสังคม ซึ่งเมื่อเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ขึ้น คนต้องอยู่บ้านมากขึ้น เพราะไม่ได้ออกไปทำงานนอกบ้าน หรือว่างงาน คนจำนวนมากมีปัญหาเรื่องรายได้ที่ลดลง จนเกิดความเครียด นำไปสู่ปัญหาความสัมพันธ์กับคนในบ้าน ซึ่งในต่างประเทศ เช่น  สหรัฐอเมริกา และฝรั่งเศส มีข้อมูลที่แสดงว่าช่วงวิกฤตโควิด-19 มีความรุนแรงในครอบครัวเพิ่มมากขึ้น โดยหน่วยงานในฝรั่งเศสได้เพิ่มช่องทางให้ผู้หญิงที่ประสบเหตุความรุนแรงในครอบครัวจากการถูกกักตัวอยู่ในบ้านสามารถแจ้งขอความช่วยเหลือที่ร้านขายยาได้ ซึ่งเมื่อมีการประชาสัมพันธ์ออกไปพบว่า ในช่วงการระบาดของโควิด-19 มีเหตุการณ์ความรุนแรงในครอบครัวเพิ่มขึ้นมากกว่าช่วงเวลาปกติถึงกว่า 30 เปอร์เซ็นต์

 

ดร.วราภรณ์ ระบุว่า ในประเทศไทย ที่ผ่านมาในเวลาปกติคนที่ประสบปัญหาความรุนแรงในครอบครัวและออกมาแจ้งเหตุมีจำนวนน้อยอยู่แล้ว อีกทั้งตามปกติกระทรวงสาธารณสุขจะมีศูนย์บริการช่วยเหลือเด็กและสตรีที่ถูกกระทำรุนแรง หรือ ศูนย์พึ่งได้ตามโรงพยาบาลทั่วประเทศ โดยผู้หญิงหรือเด็กที่ไปพบแพทย์เพราะถูกทำร้ายร่างกายหรือมีปัญหาสุขภาพจิตจากการถูกกระทำรุนแรงก็จะถูกส่งตัวมารับความช่วยเหลือที่ศูนย์นี้ แต่เมื่อเกิดโรคระบาดโควิด-19 โรงพยาบาลส่วนใหญ่มีภาระงานเพิ่มขึ้น และมีนโยบายไม่สนับสนุนให้คนไปโรงพยาบาลเพื่อลดโอกาสการติดเชื้อ โอกาสที่ผู้หญิงและเด็กจะได้รับความช่วยเหลือผ่านช่องทางนี้จึงน้อยลง นอกจากนี้ ในกรณีของเด็กที่ถูกทำร้ายร่างกายในบ้าน ส่วนใหญ่จะถูกสังเกตโดยครู แต่ขณะนี้โรงเรียนต้องปิดการเรียนการสอน ดังนั้นโอกาสที่ครูหรือบุคคลภายนอกจะช่วยสอดส่องป้องกันหรือช่วยเหลือเด็กถูกทำร้ายในครอบครัวจึงลดน้อยลง

 

ในโซเชียลและข่าวตามสื่อต่าง ๆ เราเริ่มเห็นกรณีของคนที่มีปัญหาความสัมพันธ์ซึ่งเป็นผลมาจากโควิด-19 ชัดเจนมากขึ้น บางรายมีการใช้ความรุนแรงมากขึ้น โดยเฉพาะคนที่อยู่เป็นคู่ แต่ก่อนเคยมีเวลาที่ต่างคนต่างออกไปทำงาน มีรายได้ปกติ แต่ตอนนี้ต้องทำงานอยู่ที่บ้าน ถูกลดชั่วโมงทำงาน หรือตกงาน และต้องใช้เวลา 24 ชั่วโมงร่วมกันในพื้นที่จำกัด ไม่มีกิจกรรมที่จะดึงดูดความสนใจ ออกไปข้างนอกไม่ได้ หลายรายมีรายได้ลดลง ความเครียดจึงเพิ่มมากขึ้น โอกาสที่จะกระทบกระทั่งจนเกิดความรุนแรงก็มีมากขึ้น และความรุนแรงในครอบครัวไม่ได้จำกัดเฉพาะระหว่างผู้หญิง-ผู้ชาย สามี-ภรรยา หรือคนที่เป็นคู่รักกันเท่านั้น แต่ยังมีเรื่องของความรุนแรงในเด็กด้วย ผู้จัดการแผนงานสุขภาวะผู้หญิงและความเป็นธรรมทางเพศ ระบุ

 

ดร.วราภรณ์ กล่าวว่า ในฐานะทีมเผือกจึงอยากจะชวนประชาชนที่สนใจมาเป็นทีมเผือกช่วยกันสอดส่องและช่วยเหลือคนที่ประสบปัญหา ผ่านแคมเปญ “#ทีมเผือกneighborhood” หรือ ทีมเผือกชุมชนซึ่งคนที่ประสบปัญหาความรุนแรงที่เราจะสอดส่องดูแลช่วยเหลือก็ไม่ใช่เฉพาะคนแถวบ้าน แต่อาจเป็นเพื่อน เป็นคนรู้จัก หรือเพื่อนร่วมงานกับเราก็ได้ โดยในช่วงแรกนี้อยากเชิญชวนให้คนเข้ามาทดลองใช้และส่งต่อ แอพพลิเคชั่น iCanPlan” ที่จะช่วยให้คนที่กำลังมีปัญหาความสัมพันธ์สามารถประเมินได้ว่าตนเองกำลังถูกใช้ความรุนแรงหรือไม่

 

แอพพลิเคชั่น iCanPlan เป็นชุดคำถามสำหรับประเมินตัวเองว่าสถานการณ์ที่เรากำลังเผชิญอยู่เป็นความรุนแรงหรือไม่ สำหรับคนที่กำลังเผชิญปัญหาความสัมพันธ์ เขาสามารถทำแบบสอบถามในแอพพลิเคชั่นเพื่อประเมินว่าเขากำลังเจอกับความรุนแรงอยู่ไหม และเป็นความรุนแรงระดับใด แต่ถ้าตัวเราเองไม่เจอปัญหา อย่างน้อยเราก็สามารถส่งเครื่องมือนี้ให้เพื่อน เป็นช่องทางสื่อสารกับเพื่อนว่าเราใส่ใจเขาอยู่นะ เป็นการถามไถ่อ้อม ๆ ว่าเขามีปัญหาอะไรไหม หากมีปัญหาจะได้หาช่องทางช่วยเหลือกัน โดยในระยะต่อไป ทางเครือข่ายเมืองปลอดภัยเพื่อผู้หญิงจะเผยแพร่ชุดข้อมูลการรับมือกับปัญหา โดยเฉพาะกรณีที่เป็นความตึงเครียดระดับที่ไม่รุนแรงมาก ไม่ถึงกับมีการทำร้ายร่างกายกัน จะจัดการอย่างไร บางทีเพื่อนอาจจะต้องคนที่จะรับฟังให้เขาได้ระบายความอึดอัดหรือความเครียด แต่หากถึงขั้นที่มีการทำร้ายร่างกายกัน เริ่มมีอันตรายมากขึ้น ทางเครือข่ายเมืองปลอดภัยฯ จะรวบรวมข้อมูลช่องทางติดต่อหน่วยที่ทำงานให้ความช่วยเหลือผู้ประสบปัญหาเพื่อเป็นทางเลือกในการแก้ปัญหาต่อไปดร.วราภรณ์ กล่าว

 

เปิดตัวแอพพลิเคชั่น iCanPlan ประเมินความสัมพันธ์-ระดับความรุนแรงในครอบครัว

 

ด้านดร.มนทกานติ์ เชื่อมชิต  อาจารย์ประจำวิทยาลัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทีมวิจัยและพัฒนาแอพพลิเคชั่น iCanPlan กล่าวว่า ความรุนแรงในครอบครัวเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นได้กับทุกคน เรื่องนี้จึงไม่ควรถูกมองข้าม ไม่ว่าจะเป็นความรุนแรงทางจิตใจ ทางร่างกายหรือทางเพศ เพราะเมื่อความรุนแรงเกิดขึ้น และมีการกระทำต่อเนื่องจนเป็นวงจรไม่มีที่สิ้นสุด จะทำให้กลายเป็นแนวโน้มที่จะยอมรับและใช้ความรุนแรงในชีวิตคู่ของตัวเอง ซึ่งเมื่อเห็นปัญหาจึงเริ่มทำงานวิจัย เพื่อสำรวจปัญหาความรุนแรงในประเทศและพัฒนาแอพพลิเคชั่นเพื่อช่วยเหลือวางแผนความสัมพันธ์ในชีวิตคู่

 

ดร.มนทกานติ์ ระบุว่า จากงานวิจัยพบว่า 1 ใน 6 ของผู้หญิงไทยหรือคิดเป็น 15 เปอร์เซ็นต์ เคยเจอความรุนแรงในครอบครัวไม่ว่าทางใดทางหนึ่ง ทั้งทางจิตใจ ร่างกายและทางเพศ  แต่มีผู้หญิงถึง 78 เปอร์เซ็นต์ไม่เคยขอความช่วยเหลือเพราะอาย และไม่ทราบว่าจะเข้าถึงแหล่งช่วยเหลือได้อย่างไร ซึ่งผลจากผลวิจัยนี้ ทำให้ทีมคิดต่อว่าควรจะมีเทคโนโลยีเพื่อช่วยประเมินความสัมพันธ์ในชีวิตคู่เพื่อให้คำปรึกษาและคำแนะนำในการวางแผนชีวิตคู่ก่อนที่จะเกิดความรุนแรงได้ในอนาคต 

 

สำหรับแอพพลิเคชั่นดังกล่าว ประกอบไปด้วย 4 ส่วน คือ 1.แบบวัดความสัมพันธ์และความรุนแรงในชีวิตคู่ เพื่อประเมินความสัมพันธ์ในครอบครัวเชิงลึกครอบคลุมร่างกาย จิตใจ รวมกว่า 30 ข้อ  2.ผลการประเมินพร้อมคำแนะนำเบื้องต้น ผ่านระบบประมวลผลออกเป็น 3 ระดับ คือ 1)ไม่มีประสบการณ์ความรุนแรง 2)มีประสบการณ์ความรุนแรงที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพในระดับต่ำ 3)มีประสบการณ์ความรุนแรงที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพในระดับสูง 3.รวบรวมช่องทางการสืบค้นการช่วยเหลือครอบคลุมทุกภูมิภาคทั่วประเทศ โดยระบบจะสืบหาสถานที่ที่ใกล้เคียงกับที่อยู่อาศัยของผู้ทำแบบทดสอบให้ และ4.ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับความรุนแรงในชีวิตคู่ผ่านการสื่อสารที่เข้าใจง่ายด้วยภาพอินโฟกราฟฟิก ซึ่งหลังจากหลังเปิดให้มีการดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่นไปเมื่อปลายปีที่ผ่านมา มีผู้เข้าใช้งานหลายร้อยคนซึ่งผลจากการประเมิน พบว่า ความรุนแรงในครอบครัวเกิดขึ้นกับคนทุกเพศ ทุกวัยและทุกความสัมพันธ์ โดยไม่แบ่งฐานะหรือการศึกษา และที่สำคัญผู้หญิงเคยมีประสบการณ์ความรุนแรงในชีวิตคู่มากกว่าผู้ชายถึง 3 เท่า

 

“iCanPlanจะช่วยวางแผนรับมือปัญหาความรุนแรงได้เป็นอย่างดีและเหมาะสมและตอบโจทย์กับช่วงเวลานี้ที่ทุกคนต้องกักตัวอยู่บ้าน เนื่องจากการวิจัย เราพบว่าความเครียดถือเป็นปัจจัยร่วมที่กระตุ้นและส่งเสริมให้เกิดความรุนแรงได้ง่าย ยิ่งในช่วงนี้หลายคนเครียด ตกงานและออกไปไหนไม่ได้ ดังนั้น iCanPlan จะเข้ามาช่วยให้สามารถวางแผน ตั้งรับและแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นพร้อมบอกช่องทางการช่วยเหลือในพื้นที่ใกล้เคียง ซึ่งต่อไปจะมีการพัฒนาการสื่อสารของแอพพลิเคชั่นให้สามารถโต้ตอบและแนะนำวิธีแก้ปัญหาที่เหมาะสมกับแต่ละคนมากยิ่งขึ้น จากเดิมเป็นการสื่อสารแบบทางเดียวหรือตั้งรับ เพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหาและการช่วยเหลือได้ทันทีทันใด สามารถวางแผนให้ได้ผ่านระบบเทคโนโลยี ซึ่งขณะนี้ในต่างประเทศกำลังทดลองระบบว่าได้ประสิทธิภาพหรือไม่ทีมวิจัยและพัฒนาแอพพลิเคชั่น iCanPlan กล่าว

 

ระบุ บ้านไม่ใช่สถานที่ปลอดภัยสำหรับทุกคน เผย ช่วงโควิด-19 สถิติถูกทำร้ายในครอบครัวเพิ่มมากขึ้นกว่าปกติ

 

ขณะที่นางวรภัทร แสงแก้ว หัวหน้ากลุ่มงานสังคมสงเคราะห์และศูนย์พึ่งได้  รพ.ปทุมธานี เปิดเผยว่า ความรุนแรงในครอบครัวและปัญหาการคุกคามทางเพศมีแนวโน้มที่จะเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดย 1-2 เดือนที่ผ่านมาที่เริ่มมีมาตรการให้กักตัวอยู่ที่บ้าน หรือ work from home พบมีสถิติความรุนแรงและปัญหาในครอบครัวแค่เฉพาะคนที่เข้ามาติดต่อที่ศูนย์ OSCC ของโรงพยาบาลปทุมธานีกว่า 134 คน ซึ่งมากกว่าช่วงที่โรงพยาบาลเปิดให้บริการตามปกติ และอาจจะเป็น after shock ที่เกินจะรับไหวหลังโควิด 19 ระลอกแรกเริ่มคลี่คลาย

เริ่มสัมผัสและจับสัญญาณความรุนแรงในครอบครัวที่จะเกิดขึ้นตามมา เพราะบ้านไม่ใช่สถานที่ที่ปลอดภัยสำหรับทุกคน อีกทั้งระบบการช่วยเหลือยังไม่ชัดเจนและเข้มแข็งพอ เพราะหลายเคสเจ้าหน้าที่ตำรวจปฏิเสธไม่รับแจ้งความและไล่ให้ไปรักษาตัวที่โรงพยาบาล จึงควรต้องมีการกำหนดบทบาทในการแก้ปัญหาความรุนแรงของแต่ละองค์กรให้ชัดเจน ดังนั้นคำแนะนำเบื้องต้น หากใครกำลังเผชิญกับปัญหา ให้ประเมินศักยภาพของตัวเองว่าจะรับมือได้แค่ไหน ถ้าไม่ได้ต้องขอความช่วยเหลือทันที แต่หากออกจากบ้านไม่ได้ให้โทรไปยังศูนย์ช่วยเหลือใกล้บ้านก่อนหัวหน้ากลุ่มงานสังคมสงเคราะห์และศูนย์พึ่งได้ รพ.ปทุมธานีระบุ

 

สำหรับแอพพลิเคชั่น iCanPlan สามารถดาวน์โหลดได้ฟรี ที่ App Store บนอุปกรณ์โทรศัพท์ของทุกคน

About Us

เว็บไทยเอ็นจีโอ สนับสนุนการใช้สัญญาอนุญาตครีเอทีฟคอมมอนส์และเผยแพร่แนวคิดวัฒนธรรมเสรี เนื้อหาในเว็บไซต์ไทยเอ็นจีโอดอทโออาจี ท่านสามารถเอาไปใช้งานได้เลยโดยไม่ต้องขออนุญาต เพียงท่านระบุที่มาและห้ามทำการค้า

ThaiNGO Team

ติดต่อประสานงาน - Contact
Tel : 099-014-3797

ทศพร แกล้วการไร่ : ผู้ดูแลเว็บ - Webmaster
Tel : 080-078-4016

อัฎธิชัย ศิริเทศ : บรรณาธิการ - Editor
Tel : 082-178-3849

Email : webmaster@thaingo.org

Office Hours : Mon-Fri , 9.00-17.00

Contact Info

2044/23 ถ.เพชรบุรีตัดใหม่ บางกะปิ ห้วยขวาง กรุงเทพ 10310

2044/23 New Phetchaburi Road, Bangkapi, Huai Khwang, Bankok 10310

+662 314 4112