Back

งานสืบชะตาห้วยโทง ยำ! พ.ร.บ.น้ำ เอื้อประโยชน์ให้นายทุน

20 March 2020

1673

งานสืบชะตาห้วยโทง ยำ! พ.ร.บ.น้ำ เอื้อประโยชน์ให้นายทุน

ขอบคุณภาพจาก เหมืองแร่สกลนคร  : https://www.facebook.com/148614005972309/photos/pcb.458336698333370/458337221666651/?type=3&theater

.

15 มีนาคม 63 เวลา 08.00-12.00 น. ณ ศาลาประชาคมบ้านวังบงน้อย ต.วานรนิวาส อ.วานรนิวาส จ.สกลนคร กลุ่มรักษ์อำเภอวานรนิวาส ได้ร่วมกันจัดงานบุญสืบชะตาอ่างเก็บน้ำห้วยโทง ครั้งที่ 4 โดยมีกิจกรรมทำบุญตักบาตรและถวายภัตตราหารเช้าแด่พระภิกษุสงฆ์ พิธีบายศรีสู่ขวัญงานบุญสืบชะตาอ่างเก็บน้ำห้วยโทง เพื่อแสดงความเคารพบูชาต่ออ่างเก็บน้ำห้วยโทง ซึ่งเป็นแหล่งน้ำที่มีความสำคัญ เป็นแหล่งผลิตน้ำประปา เพื่อใช้อุปโภค - บริโภค และแหล่งอาหารที่สำคัญของชาวบ้านในพื้นที่และพื้นที่ใกล้เคียง

นอกจากนี้ยังได้มีเวทีเสวนา “แนวนโยบายบริหารจัดการทรัพยากรน้ำและสิทธิชุมชน” ที่มีทั้งภาคนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร นักวิชาการจากกลุ่มนิเวศวัฒนธรรมศึกษา ตัวแทนนักวิจัยไทบ้านจากลุ่มน้ำสงคราม และตัวแทนชาวบ้านจากกลุ่มรักษ์อำเภอวานรนิวาสที่ร่วมพูดคุยในวงเสวนา

โดย กิจตกรณ์ น้อยตาแสง ตัวแทนกลุ่มรักษ์อำเภอวานรนิวาส กล่าวว่า ระบบนิเวศบ้านเรามีป่าโคก ซึ่งไหลจากป่าโคก มาบะ มาฮ้อม ลงสู้ลำห้วย ห้วยหลักสำคัญของเราคือห้วยเปาะ ห้วยโทง และไหลลงแม่น้ำยาม โดยพื้นที่เมืองวานรนิวาส ถ้าเป็นหน้าแล้งจะแล้งจนไม่มีอะไรแลย แต่พอถึงหน้าฝน สิ่งมีชีวิตเกิดขึ้นมากมาย ซึ่งเปรียบเสมือนเป็นธนาคารที่ดีของชาวบ้าน มีป่าโคก มีหนองคลองบึง มีห้วย มีบะ มีนาทาม สิ่งสำคัญคือมีทรัพยากรน้ำใต้ดิน เป็นแหล่งน้ำที่สะอาดบริสุทธ์อย่างอ่างเก็บน้ำห้วยโทง โดยอ่างเก็บน้ำห้วยโทงเป็นแหล่งผลิตน้ำประปาที่ส่งไปให้คนในตัวเมืองอำเภอวานรนิวาสใช้ในการบริโภคและอุปโภค และยังเป็นแหล่งอาหารของชาวบ้านในพื้นที่

“ปัจจุบันมี พ.ร.บ.น้ำ ออกมา ทำให้น้ำกำลังกลายเป็นสินค้า โดยที่รัฐเป็นผู้จัดการและจะเก็บภาษีกับชาวบ้านผู้ที่ใช้น้ำ ชาวบ้านจึงมีความกังวลว่าจะเกิดการแย่งชิงทรัพยากรน้ำจากอ่างเก็บน้ำห้วยโทงไป เนื่องจากพื้นที่อำเภอวานรนิวาส กำลังจะมีโครงการเหมืองแร่โปแตชที่เป็นอุตสาหกรรมขนาดใหญ่เกิดขึ้น และในอนาคตก็จะมาแย่งน้ำกับชุมชน” กิจตกรณ์กล่าว

เลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ กลุ่มนิเวศวัฒนธรรมศึกษา กล่าวว่า สถานการณ์การใช้น้ำในอ่างเก็บน้ำห้วยโทงที่เป็นอยู่ แต่ในละปีมีการแย่งน้ำกันทุกปี น้ำที่ถูกกักอยู่ต้นน้ำถูกน้ำไปใช้ที่ท้ายน้ำ จึงทำให้ชาวบ้านที่นี่ขาดแคลนน้ำในบางช่วงฤดูกาล ต้องเข้าไปของเรียกร้อง ในฐานะของคนที่อยู่ข้างบน เสียสละที่ดินทำกินทำอ่างเก็บน้ำ แต่กลับเอาน้ำไปให้ชาวบ้านอีกพื้นที่ที่ไม่ได้เป็นคนเสียสละที่ดินทำกิน ปริมาณน้ำที่นี่พอใช้พอดี ถ้ามีเหมืองแร่โปแตช เข้ามาเอาน้ำที่ไหน ในขณะที่อ่างเก็บน้ำห้วยโทงมีน้ำเพียงพอใช้พอดีไม่สามารถที่จะแบ่งปันใคร หรือเผื่อแผ่ให้โรงงานโปแตชที่ใช้น้ำในการแต่งแร่จำนวนมหาศาล

“เมื่อก่อนมีโครงการ “โขง-ชี-มูล” ที่ต้องการผลันน้ำโขงไปลงที่น้ำชีและน้ำมูล เพราะมีวิธีคิดว่าพื้นที่เกษตรในภาคอีสานมีประมาณ 58 ล้านไร่ เป็นพื้นที่เกษตรชลประทานแล้วประมาณ 7 ล้านไร่ ยังเหลืออีกตั้ง 50 กว่าล้านไร่ ที่ยังเป็นพื้นที่เกษตรนอกชลประทานไม่สามารถทำการเกษตรได้ในช่วงฤดูแล้งเพราะไม่มีน้ำ ดังนั้นจึงผลักดันให้เกิดโครงการดังกล่าวขึ้น เพื่อเพิ่มพื้นที่เกษตรชลประทานอีกประมาณ 4.98 ล้านไร่ แต่สามารถใช้น้ำในน้ำชีและน้ำมูลเพียงแค่ 7 แสนกว่าไร่ อีก 4.2 ล้านไร่ต้องเป็นน้ำโขงเท่านั้นโครงการดังกล่าวจึงล้มเหลวไป” เลิศศักดิ์กล่าว

เลิศศักดิ์กล่าวต่อว่า ปัจจุบันมีการเสนอโครงการ “โขง-เลย-ชี-มูล” ซึ่งเกี่ยวข้องกับอำเภอวานรนิวาส เพราะแม่น้ำยามที่อยู่ที่อำเภอวานรนิวาสเป็นต้นน้ำแห่งหนึ่งของแม่น้ำสงคราม นอกจากกันเขื่อนแม่น้ำโขงแล้วต้องกั้นเขื่อนแม่น้ำสงครามเป็นช่วง ๆ และกั้นลำน้ำสาขาสำคัญ 2 สาย คือแม่น้ำยามกับแม่น้ำอูน การกั้นเพื่อจะดันน้ำให้ขึ้นมาที่อำเภอวานรนิวาสได้ น้ำเยอะขนาดนั้นชาวบ้านจะเข้าไปมีส่วนร่วมในการควบคุมบริหารจัดการน้ำเหมือนอ่างเก็บน้ำได้หรือไม่

“พ.ร.บ.น้ำ พ.ศ.2561 โดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีคณะกรรมการลุ่มน้ำที่ทำหน้าที่ตัดสินว่าน้ำที่บริหารในท้องถิ่นนั้น ๆ ถ้าเกิดเหตุจำเป็นใครจะเป็นผู้มีสิทธิ์ในการใช้น้ำ และใครที่มีอานาจในการซื้อ น้ำจะหันปลายท่อไปหาผู้นั้น ถ้ามีโครงการดังกล่าวเกิดขึ้น ชาวบ้านจะเอาอำนาจที่ไหนไปต่อรองกับคณะกรรมการลุ่มน้ำที่คำนึงว่าสมควรเอาน้ำไปใช้ในอุตสาหกรรมเหมืองแร่โปแตช ก่อนดีกว่าไหม” เลิศศักดิ์กล่าว

สุริยา โคตะมี ตัวแทนนักวิจัยไทยบ้านลุ่มน้ำสงคราม กล่าวว่า การจัดการน้ำตอนนี้ถึงแม้จะเป็นตัว พ.ร.บ.ที่ออกมาแล้ว แต่อย่าลืมว่ากฎหมายน้ำที่ออกมาเป็นกฎหมายที่ภาครัฐเป็นคนคิดเอื้อให้กับนายทุน ไม่ใช่กฎหมายที่ชาวบ้านเขียน หรือเป็นกฎกติกาที่ชาวบ้านเขียนขึ้นเพื่อใช้น้ำร่วมกัน แต่เป็นกฎกติกาที่คนรวยหรือนายทุนใหญ่เป็นคนคิดออกมาเพื่อรองรับกิจการการลงทุนของตนเอง ฉะนั้นแล้วการบริหารจัดการน้ำในหลายพื้นที่ตอนนี้ อย่างโครงการน้ำสงครามก็ยังพยายามที่จะทำต่อ มีการจ้างบริษัทที่ปรึกษาเพื่อให้ไปสำรวจน้ำในภาคอีสาน 20 ปี เป็นการคิดที่ตอบสนองระยะยาว

“สิ่งหนึ่งที่ชาวบ้านเสียเปรียบคือแนวนโยบายของรัฐ โดยเฉพาะเขาไม่ได้มองเรื่องของสิทธิชุมชนหรือสิทธิของชาวบ้านที่มีสิทธิ เขียนกฎหมายมาก็จริง แต่เรื่องของการปฏิบัติกลับไม่เห็นหัวของชาวบ้านเลย การจัดการน้ำที่ผ่านมาเป็นการจัดการน้ำที่กฎหมายยังคงเขียนว่าน้ำเป็นของรัฐ ตราบใดที่คำนิยามนี้เป็นของรัฐ ไม่ว่าจะเป็นน้ำเหนือดินหรือใต้ดิน ยังถือว่าเป็นของรัฐ ชาวบ้านไม่สามารถที่จะหยิบขึ้นมาใช้ได้ นี้เป็นสิ่งที่เราเสียเปรียบมาตลอด” นักวิจัยไทบ้านให้ทรรศนะ

.

ด้าน กิติมา ขุนทอง อาจารย์คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฎสกลนคร กล่าวว่า พ.ร.บ.น้ำ แม้ว่าจะออกมาในรูปของการพยายามที่จะสร้างประสิทธิภาพในการใช้น้ำ การพยายามที่จะบริหารจัดการน้ำให้เกิดประโยชนสูงสุดในหน้าแล้ง หรือในภาวะน้ำท่วม จริงๆ แล้วเป็นความพยามยามในการจัดการน้ำในรูปแบบของการรวมศูนย์ ซึ่งมีการร่วมศูนย์ในการจัดการทรัพยากรในทุกระดับ

ที่วานรนิวาสซ้อนทับ 2 อย่างชัดเจน คือ การรวมศูนย์เรื่องการจัดการเรื่องแร่โดยคณะกรรมการนโยบายบริหารจัดการแร่แห่งชาติ การรวมศูนย์เรื่องการจัดการเรื่องน้ำที่ให้อำนาจของคณะกรรมการน้ำ หมายความว่าเป็นผู้ที่มีอำนาจที่จะบอกว่าใครใช้น้ำได้ ซึ่งอาจจะทำให้เกิดปัญหาตามมา

“หลักคิดของการจัดการทรัพยากรน้ำจะกีดกันคนที่จะเข้าถึงการใช้น้ำและยังแย่งชิงทรัพยากรน้ำจากชุมชน อย่างอ่างเก็บน้ำห้วยโทงเป็นอ่างเก็บน้ำโดยกรมชลประทานควบคุม ซึ่งเป็นหลักการบริหารจัดการน้ำที่เป็นของรัฐ แต่ว่าหลักที่ใช้อยู่จริง ๆ อ่างเก็บน้ำห้วยโทงเป็นสิทธิเชิงซ้อน คือ รัฐเป็นเจ้าของในการจัดการ แต่คนในชุมชนเป็นผู้ใช้รูปแบบอื่นได้”  

อ.กิติมา กล่าวต่อว่า งานวิจัยไทบ้านสะท้อนให้เห็นว่าคนที่สัมพันธ์กับอ่างเก็บน้ำห้วยโทง รวมถึงน้ำสาขา น้ำอ่างเก็บน้ำหินเหิบหินกองลงไปจนถึงน้ำสงครามและน้ำโขง โดยใช้ประโยชน์ได้หลากหลายรูปแบบ งานวิจัยไทบ้านชี้ให้เห็นว่ามีสัตว์น้ำมากถึง 57 ชนิดที่ชาวบ้านอาศัยหากิน นำไปใช้ทำประปา นำไปใช้ในการทำการเกษตร และอื่นๆ  แม้ว่ารัฐจะเป็นผู้จัดการแต่ชุมชนเข้าไปใช้ประโยชน์ได้ แต่ว่า พ.ร.บ.น้ำน่ากลัวกว่าเพราะมันกำลังจะหลุดออกจากมือเราออกไปสู่รัฐจะกลายเป็นสิทธิแบบปัจเจกหรือสิทธิแบบเด็ดขาด ดังนั้นทรัพยากรน้ำจะถูกส่งผ่านให้นายทุนทันที

ย้อนไปเมื่อปี 59 มีการประกาศของกระทรวงเกษตรเรื่องการจัดเก็บค่าผ่านทางน้ำห้วยโทง การที่ชาวบ้านที่วานรนิวาสบริจาค หรือให้เวนคืนที่ดิน แต่เป้าหมายของอ่างเก็บน้ำห้วยโทง คือ นำมาใช้ในภาคเกษตรกรรม การยังชีพของคนในวานรนิวาส และปล่อยให้อยู่ในระบบธรรมชาติ แต่การกระทรวงเกษตรฯ ออก พ.ร.บ.การจัดเก็บค่าผ่านทางน้ำ อ้างเหตุ 3 ข้อ คือ 1.ที่ผ่านมาการใช้น้ำของคนในพื้นที่ไม่เกิดประโยชน์ 2.การบริหารจัดการน้ำไม่มีประสิทธิภาพ และ 3. คือการจัดเตรียมน้ำเพื่อสนับสนุนกิจกรรมอุตสาหกรรม แปลว่ากระบวนการพยายามที่จะแปรรูปน้ำ มันไม่ได้เกิดขึ้นแค่ในช่วงเวลาที่ พ.ร.บ.น้ำประกาศใช้ แต่มีความพยายามที่หลากหลายมาตั้งนานแล้วที่สกลนคร

“นั้นหมายความว่า น้ำ แต่เดิมเป็นทรัพยากรสาธารณะที่ทุกคนใช้ร่วมกันได้ แต่ปัจจุบันรัฐเป็นผู้บริหารจัดการทรัพยากรน้ำ โดยถ้าคุณจะใช้น้ำคุณก็ต้องจ่ายค่าน้ำ คุณไม่อยากจ่ายมากก็ไม่ต้องใช้มาก ซึ่งเปิดช่องว่างให้คนที่ใช้มากและยินดีจ่ายเข้าถึงน้ำได้ แต่ขณะเดียวกันก็สร้างความเสี่ยงในสิทธิหรือกีดกันความสามารถในการเข้าถึงน้ำของชุมชน ดังนั้นชาวบ้านเสี่ยงจากเหมืองแร่โปแตชไม่พอ ยังต้องเสี่ยงจากการไม่มีน้ำใช้จากกิจกรรมทางการเกษตร ซึ่งเป็นความเสี่ยงมากของคนชนบทที่ต้องใช้น้ำ” อ.กิติมากล่าวทิ้งท้าย  

About Us

เว็บไทยเอ็นจีโอ สนับสนุนการใช้สัญญาอนุญาตครีเอทีฟคอมมอนส์และเผยแพร่แนวคิดวัฒนธรรมเสรี เนื้อหาในเว็บไซต์ไทยเอ็นจีโอดอทโออาจี ท่านสามารถเอาไปใช้งานได้เลยโดยไม่ต้องขออนุญาต เพียงท่านระบุที่มาและห้ามทำการค้า

ThaiNGO Team

ติดต่อประสานงาน - Contact
Tel : 099-014-3797

ทศพร แกล้วการไร่ : ผู้ดูแลเว็บ - Webmaster
Tel : 080-078-4016

อัฎธิชัย ศิริเทศ : บรรณาธิการ - Editor
Tel : 082-178-3849

Email : webmaster@thaingo.org

Office Hours : Mon-Fri , 9.00-17.00

Contact Info

2044/23 ถ.เพชรบุรีตัดใหม่ บางกะปิ ห้วยขวาง กรุงเทพ 10310

2044/23 New Phetchaburi Road, Bangkapi, Huai Khwang, Bankok 10310

+662 314 4112