ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2566 เว็บ thaingo.org จะปรับค่าบริการจากเดิม 300 บาทเป็น 500 บาท
From January 1, 2023, thaingo.org will adjust job announcement fee from 300 baht to 500 baht.

ThaiNGO team support only thaingo.org and thaingo.in.th.

เว็บไซต์ที่ทีมงาน thaingo ดูแลคือ thaingo.org และ thaingo.in.th เท่านั้น

อารัติ แสงอุบล นักสู้กับสารพิษ

สัมภาษณ์ อารัติ แสงอุบล เลขาธิการ กป.อพช.อีสาน เป็นนักพัฒนาอีกคนหนึ่งที่คร่ำหวอดต่อกรณีเรื่องสารเคมี ที่กำลังร้อนแรงมากในเวลา โดยเฉพาะในแผ่นดินภาคอีสาน สัมภาษณ์โดย ทีมงาน ไทยเอ็นจีโอ


 


ไทยเอ็นจีโอ :   สถานการณ์ เรื่องเคมีเกษตรในพื้นที่อีสานรุนแรง แค่ไหน ครับ พอจะยกภาพตัวอย่างให้รู้หน่อยได้ไหม
อารัติ แสงอุบล  
จากข้อมูลที่เครือข่ายภาคประชาชนทำงานในพื้นที่ภาคอีสาน คิดว่าผลกระทบจากการใช้สารพิษทางการเกษตรในภาคอีสานมีความรุนแรงมากไม่แพ้จากภาคเหนือและภาคกลาง การขยายตัวของการใช้สารพิษการเกษตรเกิดขึ้นจากการขยายตัวของพืชเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอ้อยมันสำประหลังและข้าวโพดเดิมที่การกำจัดวัชพืชและศัตรูพืชในไร่นาภาคอีสานไม่กว้างขวางมากนัก แต่เมื่อมีนโยบายและการส่งเสริมการผลิตพืชเชิงเดี่ยวโดยบริษัทการเกษตรซึ่งมีการส่งเสริมการใช้สารเคมีกำจัดวัชพืชแบบเข้มข้นจึงทำให้เกิดการขยายตัวในการใช้สารพิษในกลุ่มกำจัดวัชพืชขยายตัวแบบไร้การควบคุม เช่น พบว่ามีการใช้ยาฆ่าหญ้าคุมวัชพืชก่อนการไถนาซึ่งมันเป็นเทคนิควิธีที่ได้มาจากการปลูกอ้อยโรงงาน, หรือการใช้ยาฆ่าหญ้าผสมกับน้ำยาปรับผ้านุ่มเพื่อลดผลกระทบทางกลิ่น เป็นต้น และหน่วยงานราชการก็ไม่เคยเอาจริงเอาจังกับการศึกษาผลกระทบด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อมตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา       

 

          ส่วนกรณีที่สังคมให้ความสนใจตื่นตัวมากในระยะสามสี่เดือนที่ผ่านมา คือการที่ภาคประชาชนลงทำงานระดับฐานชุมชนเพื่อเก็บข้อมูลและทำงานวิจัยศึกษาผลกระทบสารพิษการเกษตรสามชนิดคือ พาราควอต คอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซต เป็นการทำงานอย่างต่อเนื่องไม่น้อยกว่าห้าปี ซึ่งมีข้อค้นพบมากมายว่าสารพิษการเกษตรได้สร้างผลกระทบอะไรต่อสุขภาพประชาชนบ้าง เช่น งานของ สกว. ฝ่ายส่งเสริมวิจัยท้องถิ่น จ.หนองบัวลำภู ร่วมกับนักวิจัยท้องถิ่นทำการวิจัยในพื้นที่ อ.สุวรรณคูหา จ.หนองบัวลำภู เนื่องจากเห็นผลกระทบด้านสุขภาพตัวเลขการเจ็บป่วยสูงและพบการใช้สารเคมีกำจัดวัชพืชในการเกษตรเกินอัตรากำหนด 4-8 เท่า คาดการว่าในพื้นที่ อ.สุวรรณคูหา มีการใช้ ‘พาราควอต’ มากกว่า 3 แสนลิตรต่อปี และทั้งจังหวัดหนองบัวลำภูมีการใช้มากกว่า 8 แสนลิตรต่อปี ซึ่งการตกค้างของสารพิษทางการเกษตรในพื้นที่และความสัมพันธ์กับการเกิดโรคเนื้อเน่าที่ชาวนาชาวไร่ในภาคอีสารเป็นโรคนี้เพิ่มขึ้นทุกปี เป็นต้น นอกจากนี้ก็ยังมีอีกหลายพื้นที่ที่พยายามจะค้นหาความจริงจากผลกระทบของสารพิษที่อาบแผนดิน เช่น จังหวัดเลย จังหวัดยโสธร จังหวัดอุบลราชธานี จังหวัดมหาสารคาม เป็นต้น ซึ่งก็มีคำตอบที่ไม่ต่างกัน คือพบว่ามีการขยายตัวในการใช้สารพิษชนิดร้ายแรงในการเกษตรเป็นวงกว้างอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อนในภาคอีสาน   

 

ไทยเอ็นจีโอ แล้วการเคลื่อนไหว รณรงค์ ของเรามีอะไรบ้าง ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงไหม อย่างไร บ้างครับ
อารัติ แสงอุบล
:  เรื่องการเคลื่อนไหวรณรงค์เพื่อสร้างความเข้าใจให้กับชาวนาชาวไร่และประชนทั่วไป เป็นสิ่งที่เครือข่ายภาคประชาชนทำงานกันมาอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการทำงานวิจัยศึกษาผลกระทบในระดับพื้นที่ การจัดการเรียนรู้เพื่อสร้างทางเลือกในการผลิต การเผยแพร่ข้อมูลผลกระกระทบในรูปแบบอีเว้นท์-แคมเปญต่างๆ การทำงานของเครือข่ายทางสังคมต่างๆทำให้มีกลุ่มเกษตรกรผู้ผลิตในระบบเกษตรอินทรีย์เพิ่มขึ้นทุกปี มีการพัฒนาตลาดทางเลือกตลาดนัดสีเขียวเพื่อกระจายผลผลิตปลอดภัยไปสู่ผู้บริโภค รวมทั้งมีนวัตกรรมใหม่ๆที่สร้างการเปลี่ยนแปลงได้มากพอสมควร เช่น การทำระบบอาหารปลอดภัยสำหรับเด็กในโรงเรียน, การสร้างมาตรการชุมชนเพื่อควบคุมสารพิษ, การเชื่องโยงผลผลิตปลอดภัยเพื่อเข้าสู่ร้านอาหาร, การพัฒนาระบบการตรวจสอบรับรองมาตรฐานผลผลิตเกษตรอินทรีย์ เป็นต้น    

 

          ปัจจุบันคิดว่าภาคประชาสังคมในระดับจังหวัดและในภาคอีสานตื่นตัวกันมากและพยายามทำงานอย่างหนักเพื่อเชื่อมโยงให้สังคมเข้าใจเรื่องสารพิษการเกษตรผ่านเรื่องการบริโภคอาหารที่ปลอดภัยและไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ล่าสุดก็กรณีภาคประชาชน 700 กลุ่มองค์กรร่วมลงชื่อคัดค้านการต่ออายุสารพิษ มีการแสดงพลัง และยื่นหนังสือให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ เป็นผลให้เกิดการทบทวนการต่ออายุแบบชั่วคราว แต่ก็ไม่เห็นมีอะไรไปหน้ามาหลังจนท้ายสุด 30 สิงหาคมที่ผ่านมาคณะกรรมการวัตถุอันตรายมีมติไม่แบนสารพิษอันตรายสามชนิด (พาราควอต, คอร์ไพริฟอส, ไกลโฟเซต) โดยอ้างว่าจะกระทบกับเกษตรกรชาวไร่จำนวนมาก แต่ลดกระแสสังคมลงนิดหน่อยด้วยการสั่งควบคุมการใช้ในพืชผักและสมุนไพรซึ่งปกติก็ไม่มีการใช้ จึงยังไม่เห็นมีมาตรการอะไรที่เป็นมรรคเป็นผลจากกรรมการชุดนี้       

      

ไทยเอ็นจีโอ :   อุปสรรคหลักๆ ที่ยังไม่สามารถทำให้สำเร็จผลได้ทั้งๆที่สังคมไทยตื่นตัวตระหนักมากขึ้น แต่กลับแรงไม่ พอเปลี่ยนแปลงในกลุ่มเกษตรกร เป็นเพราะอะไร

อารัติ แสงอุบล  :   หากการแบนสารพิษร้ายแรงเป็นผลสำเร็จ จะถือว่าเป็นการลดทอนผลประโยชน์ผลกำไรทางการค้าสารพิษของบริษัทยักษ์ใหญ่ข้ามชาติ (เช่น ซินเจนทา ไบเออร์-มอนซานโต้ ดาวเคมีคอล เจียไต๋) และบริษัทค้าขายสารพิษอื่นๆ ที่มียอดขายรวมกันกว่า 90,000 ล้านบาทต่อปี บริษัทเหล่านี้คือผู้มีอิทธิพลตัวจริงและพวกเขาไม่เคยต้องจ่ายภาษีสารพิษเหล่านี้ได้เลยนับตั้งแต่ปี 2535 เป็นต้นมา ไม่ว่าจะเป็นภาษีนำเข้าหรือภาษีมูลค่าเพิ่ม และไม่มีส่วนรับผิดชอบใดๆ กับผลกระทบที่เกิดจากสารพิษการเกษตรเหล่านั้นที่ก่อปัญหาสุขภาพให้กับคนจำนวนมาก ที่ปนเปื้อนในดิน ในน้ำ ในห่วงโซ่อาหาร หรือแม่แต่ในอีเอ็นเอของสิ่งมีชีวิต หรือกล่าวได้ว่าอุปสรรค์สำคัญที่ทำให้สังคมไทยยังวนเวียนอยู่กับปัญหาสารพิษร้ายแรงก็คือรัฐและหน่วยงานราชการ เพราะเป็นกลไกที่ไม่มีประสิทธิภาพไม่กล้าปกป้องประชาชนในประเทศของตนเอง ไม่กล้าริเริ่มสร้างสรรค์ค้นหาแนวทางใหม่ๆ ไม่กล้าพูดความจริงเกี่ยวกับผลกระทบสารพิษการเกษตรทั้งที่รู้ดีว่ามีงานวิจัยมากมายในระดับโลกที่ใช้ยืนยันข้อเท็จจริงได้ ดังนั้นเราจึงเห็นกลไกราชการตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของกลุ่มผลประโยชน์ไม่เว้นแม่แต่คณะกรรมการวัตถุอันตรายที่เพิ่งมีมติไม่แบนสารพิษอันตรายทั้งสามชนิดเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา ดังนั้นการพูดพล่ามคำโตของรัฐบาล คสช. ถึง เศรษฐกิจพอเพียง ศาสตร์พระราชา เกษตรอินทรีย์  จึงเป็นแค่การโกหกคำโต เพราะความเป็นจริงรัฐทำหน้าที่รักษาผลโยชน์ให้กลุ่มบรรษัทสารพิษและอุตสาหกรรมเกษตรและอาหารสัตว์ยักษ์ใหญ่ มากกว่าจะรักษาผลประโยชน์ของประชาชนซึ่งเป็นเช่นนี้มาโดยตลอด     

        

ไทยเอ็นจีโอ  :   ส่วนการเคลื่อนไหวทางนโยบาย มีบ้างไหมอย่างไร รวมถึงท่าทีรัฐมีแนวโน้มว่าอย่างไร  
อารัติ แสงอุบล  :   ปัจจุบันมีการกำหนดตัวเลขไว้ในแผนพัฒนาฯ (ฉบับที่ 12) ให้มีพื้นที่เกษตรกรรมยั่งยืน 5 ล้านไร่ ในรูปแบบต่างๆ เช่น เกษตรผสมผสาน เกษตรอินทรีย์ วนเกษตร เกษตรทฤษฎีใหม่ หรือเกษตรเชิงนิเวศรูปแบบอื่นๆ และภาคประชาชนได้ร่วมกันผลักดันร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืน รวมทั้งความพยายามที่จะแบนสารพิษรายแรงทางการเกษตรของภาคประชาชน ถือเป็นการวางรากฐานของการขับเคลื่อนเพื่อเพิ่มพื้นที่เกษตรยั่งยืนที่ไม่ทำลายสุขภาพและสิ่งแวดล้อม และจะมีผลต่อเนื่องหลังหมดอำนาจของรัฐบาลปัจจุบัน ซึ่งการผลักดันทั้งสองสามเรื่องที่ว่ามาจะส่งผลกระทบต่อแผนการขยายพื้นที่ปลูกข้าวโพดอาหารสัตว์ และอ้อยโรงงานในภาคอีสานที่กำลังเร่งขยายพื้นที่เพาะปลูกเพิ่มจากเดิมอีกกว่า 9 ล้านไร่ (เป้าหมาย 18 ล้านไร่) ซึ่งอ้อยดังกล่าวจะมาพร้อมโรงงานน้ำตาลที่พ่วงด้วยโรงไฟฟ้าชีวมวลที่มีแผนจะสร้างอีกราว 29 โรงงานซึ่งคาดว่าจะก่อผลกระทบต่อชุมชนอีกมากมายมหาสาร รวมถึงพืชอุตสาหกรรมอื่นของกลุ่มอุตสาหกรรมเกษตรในคณะกรรมการประชารัฐ ซึ่งเป็นกลุ่มทุนที่พึ่งให้กับคนในรัฐบาลจำนวนหนึ่งที่ต้องการสืบทอดอำนาจ .....งานนี้คงต้องจับตามองกันต่อไป ประชาชนห้ามกระพริบตา    

 

 

อัฎธิชัย  ศิริเทศ ทีมงานไทยเอ็นจีโอ รายงาน