ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2566 เว็บ thaingo.org จะปรับค่าบริการจากเดิม 300 บาทเป็น 500 บาท
From January 1, 2023, thaingo.org will adjust job announcement fee from 300 baht to 500 baht.

ThaiNGO team support only thaingo.org and thaingo.in.th.

เว็บไซต์ที่ทีมงาน thaingo ดูแลคือ thaingo.org และ thaingo.in.th เท่านั้น

การออกแบบประชาธิปไตยของภาคประชาชน

ขอบคุณภาพจากกรีนเวิร์ล : http://www.web.greenworld.or.th/greenworld/local/2199 

เป็นเรื่องที่ต้องยอมรับความจริงว่า ขบวนการเคลื่อนไหวเรื่องประชาธิปไตยภาคประชาชนบ้านเรามาถึงทางตัน ตันอยู่หลายปีตันร่วมทศวรรษแล้ว ถ้าย้อนนึกคิดทบทวนไป ตั้งแต่เริ่มมีการปลุกม็อบชนม็อบ การที่รัฐเริ่มทำหน้าที่ฟ้องประชาชนที่ซึ่งเคลื่อนไหวเรียกร้องสิทธิ์ของตนเอง ตั้งแต่เริ่มมีการขับไล่นักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง การปรบมือมอบดอกไม้ให้ยึดอำนาจและจนถึงตั้งแต่มีการขัดขวางการเลือกตั้ง .

ทำไมประชาธิปไตยบ้านเรา จึงไม่สามารถเกิดขึ้นหรือมีพัฒนาการที่ดูน่าสมเหตุสมผลกับการเวลา ทำไมจึงดูเหมือนว่าเดินหนึ่งก้าวถอยหลังสองก้าวอยู่เสมอ และทำไมจึงดูเหมือนว่า เราไม่ชอบระบอบประชาธิปไตย จริงๆจังๆ นั่นเพราะเราคิดว่า เมื่อเรายอมรับหลักการ เราเลือกตั้งแล้ว เราก็จะเป็นสังคมประชาธิปไตย เราจะได้บ้านเมืองที่ดี เราจะพบชีวิตที่มีความสุขภายใต้รัฐบาลที่ดีและราชการที่ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ แต่ความจริงที่ปรากฏ คือ ไม่เป็นเช่นนั้นหรือตรงกันข้าม นั่นเพราะภาคประชาชนยังขาด กระบวนการที่สำคัญ คือ .

ประการแรกคือ การมีส่วนร่วม อย่างแท้จริงๆ ในทุกๆ ขั้นตอน ซึ่งความจริงประชาชนคนไทยมีความพร้อมและมีทักษะมีความเข้าใจในระดับหนึ่ง อย่างน้อยตระหนักในสิทธิ์ของตนเองซึ่งพอสร้างสรรค์ประชาธิปไตยได้ แต่ยังถูกจำกัดจากความเคยชินของระบบราชการและฝ่ายบริหารของท้องถิ่น ดังนั้น ประชาชนต้องพยายามทำให้ตนเองคุ้นเคยและทำให้หน่วยงานทั้งราชการและการเมืองคุ้นเคย .

ประการที่สอง คือ เรื่องการควบคุมตรวจสอบ การตรวจสอบการทำงาน ไม่ใช่แค่หน้าที่ในสภา เท่านั้น แต่ประชาชนที่ซึ่งอยู่นอกสภาเองก็ต้องติดตาม สืบเสาะหา และนำเสนอวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของราชการและการเมือง เพื่อให้การบริหาร การกำหนดนโยบาย ตรงตามความต้องการและมีประสิทธิภาพ นี่เป็นหัวใจสำคัญของระบอบประชาธิปไตย และการเป็นเครื่องมือสร้างสรรค์การเมืองให้มีคุณภาพ ภาคประชาชนยังอ่อนแอ และไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอในเรื่องนี้ ที่สำคัญยังร่วมมือกันในทุกๆระดับได้ไม่ดีพอ ทั้งท้องถิ่นและระดับชาติ .

ประการที่สาม คือ ต้องมีความพยายามรักษาไว้ซึ่งบรรยากาศประชาธิปไตย เรื่องนี้สังเกตได้จากหลังรัฐประหารครั้งล่าสุด เกิดการเก็บเงียบและหันหลังให้การเมือง ทำให้กระบวนการใช้อำนาจของรัฐบาทหาร ไร้ขอบเขต รุกคืบจำกัดเสรีภาพ ร่างและใช้กฎหมายที่ก้าวล้ำสิทธิ เสรีภาพ ของประชาชนอย่างมาก ทำลายหลักการทางกฎหมาย ทำลายกระบวนการยุติธรรม ใช้ดุลยพินิจตนเองแทนกฎหมาย ที่สำคัญทำลายบรรยากาศประชาธิปไตย ทำให้สังคมก้มหน้าเก็บงำซึ่งลดทอนพลังการเคลื่อนไหวสร้างสรรค์ประชาธิปไตย ดังนั้น การเงียบคือภัยร้ายแรงสำหรับการพัฒนาประชาธิไตย .

ประการที่สี่ภาคประชาชนต้องมีจินตนาการร่วมกัน ถึงสังคมประชาธิปไตยที่ควรจะเป็น หรืออนาคตสังคมไทย ตอนนี้ รากลึกความขัดแย้งมันไม่ได้ยุติอย่างที่เข้าใจ แต่กลับยังคงอยู่ และพร้อมเผชิญหน้า ดูจากท่าทีและคำประกาศของผู้นำพรรคการเมืองใหม่ๆ ที่กำลังเปิดตัว ทำให้ยังคงเห็นภาพว่า คนไทยแตกแยกไปจนถึงอนาคต หมายถึง ต่างฝ่ายต่างมองประชาธิปไตยคนละแบบ ไม่มีจุดเชื่อมร่วม ไม่สร้างหลักการสำคัญให้เป็นที่ยอมรับทุกฝ่าย .

ดังนั้น ในเวลานี้ ต่อให้มีการเลือกตั้ง มีบรรยากาศประชาธิปไตยกลับมา แต่ก็จะเป็นบรรยากาศแบบปลอมๆ เพราะความคิด ความเข้าใจ ในหลักการสำคัญๆ อาทิ ให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสิน ว่าจะเลือกใคร เลือกอะไร เลือกนโยบายอย่างไร หากไม่ยุติและยอมรับหลักการสำคัญๆ ร่วมกัน ก็ยากที่สถาปนาประชาธิปไตยที่มีประสิทธิภาพจริงๆ ขึ้นมาได้ ภาคประชาชนก็จะได้แต่ประชาธิปไตยปลอมๆ ที่พร้อมจะฉีก และเอารถถังออกมา !!