Back

โชคชะตาสุราแช่ 6  ตอน โชคชะตาสาโท

28 July 2020

2645

โชคชะตาสุราแช่ 6  ตอน โชคชะตาสาโท

 

.การได้ออกไปใช้ชีวิตต่างถิ่นกำเนิด ในกรุงเทพฯ บนดอย ปักษ์ใต้ การได้สัมผัสสัมพันธ์กับคนหลากหลายอาชีพ ฐานะ ชนชั้น การศึกษา ยิ่งทำให้ผมเห็นตัวเอง บวกกับพื้นฐานเป็นคนชิงชังการแข่งขัน เหยียบย่ำ แก่งแย่งเป็นทุนเดิม ก็ยิ่งรบเร้าให้ผมครุ่นคิดเรื่อง พื้นที่ ตัวตน และอัตลักษณ์ และรูปแบบการดำเนินชีวิตตลอดจนที่มาที่ไปของความคิดความเชื่อ

.

“ใช่แล้ว...”   ผมอุทานเบาๆ ผมชอบความงามง่ายของชีวิตบ้านนอก ชนบท คนป่า เกษตรกร อะไรๆ เทือกนี้มากกว่า ผมบทสนทนาง่ายๆ ผมชอบการไร้ความพิถีพิถัน แต่เน้นหรือเผยสันดานจริง หยาบคายแต่หอมกรุ่นความจริงใจ ทำไมผมเบื่อชีวิตต่างถิ่นนะหรอ ผมทำอาชีพสื่อบนงานพัฒนา ผมต้องตอแหลกับตัวเองหลายๆ เรื่อง ไม่เห็นด้วยแต่ก็ต้องผงกหัว ทำสีหน้าเจิดจ้า เวลาที่ราษฎรอาวุโสชี้แนะ จำนนต่อความสัมพันธ์ที่ไม่เท่าเทียมบ่อยๆ มันเป็นโลกที่น่าเบื่อ และเหยียบย่ำเย้ยหยันกันทุกรูปแบบ แม้แต่เรื่องเมรัย ว่าคุณดื่มยี่ห้ออะไร ดื่มราคาเท่าไหร่ ดื่มรุ่นไหน ฉลากสีอะไร Black หรือ Blue หรือ Gild หรือ สิงห์ หรือ ไฮเนเก้น หรือ พอลลาเน่อ ฯลฯ

.

ชีวิตจริงๆ ไม่มีใครหรอก ที่แสวงหาความสุขเสมอภาค มีแต่ต้องการแตกต่าง เหนือกว่า แม้แต่ในสังคมเกษตรชนบทก็ใช่...

.

แรงผลักเพื่อสร้างคราบ ห่อเปลือกกับค่านิยมแบบนี้เอง ทำให้ผมรู้สึกเหนื่อย เคว้งคว้างต่อโชคชะตาและสังคมรอบตัว อยากกลับบ้าน อยากมีรูปแบบชีวิตง่ายๆ นุ่งผ้าขาวม้า โยนปลาเข้ากองไฟ นั่งลงบนแคร่ ใต้ร่มไม้แล้วกระดกดื่ม ให้ลำคอกระเด้ง ดัง อึกๆ

.

 

“ใช่แล้ว...”  ผมนึกอะไร  “สาโท...เหล้าสาโท”   แล้วความทรงจำวัยเยาว์ วัยแรกรุ่นก็เริ่มผุดพรายในมโนภาพ ทุกๆคืนผมนอนลืมตาเบิกโพล่ง กลิ่นไอข้าวเหนียวนึ่งของแม่โชยมา ฟะฟุ้ง  เมื่อเย็นและคลุกแป้งได้ที่ ก็ปิดฝาหมัก สัก 5-6 วัน และแล้วกลิ่นหอมจากข้าวเหนียวหมักค่อยๆส่งกลิ่น ฟุ้งตลบอบอวลไปทั่วบ้าน ผมจะรอเวลาที่แม่เผลอ แล้วแอบย่อง เอานิ้วไปเขี่ยเนื้อข้าวขึ้นมากิน พอวันที่ 7-8 กลิ่นหอมค่อยๆ หายไป เป็นกลิ้นแอลกอฮอล์ จนเริ่มได้ที่จริงๆ น้ำสาโทจะใสอมเขียวจางๆ   ก้อนข้าวจะลอยละล่องบนผิวน้ำสีขุ่นขาว ผมค่อยๆ แหวกก้อนข้าวออกช้าๆ เบาๆ เพื่อไม่ให้ก้อนข้าวแตก เพราะจะทำให้เสียฟิลลิ่ง การละเลียด แล้วตักขึ้นมา กระดกดื่มให้ดัง อักๆ...  กลิ่นสาโทเป็นกลิ่นหอมมีเอกลักษณ์ เวลากระดกดื่มจะอวลกำจัย ระบายออกทางลำคอ จมูก ปาก แต่ละที่ แต่ละสูตร (สำนักแป้ง) จะให้รสชาติไม่เหมือนกัน

.

ในประกายวันวานที่ตกค้างในความทรงจำ ที่ผมไม่เคยลืม เมื่อกลิ่นข้าวเหนียวโชยฟุ้งทั่วบ้าน นั่นคือใกล้ถึงวันเก็บเกี่ยว ความสุขที่จะได้เสียงหัวเราะร่าของผู้คน เสียงขับขานบทเพลง การได้นั่งร่วมเคาะชาม ขวด ช้อน ครุ ถัง เป็นเครื่องดนตรีที่เรามี นั่นหละคือ วันอันแสนสุข การมีชีวิตในชุมชน เรารู้เราจดจำได้หมด ใครร้องเพลงเก่ง ใครร้องเพลงใคร ไวพจน์ เพชรสุพรรณ ศรคีรี ศรีประจวบ สายัณ สัญญา ชาย เมืองสิงห์ ยอดรัก สลักใจ พุ่มพวง ดวงจันทร์ ขวัญจิต ศรีประจันต์ ฯลฯ กลางลานข้าว เดือนหงายสว่างโร่ ลมหนาวพัดวูบวาบปะทะหน้า  ฟางถูกจุดให้ความอบอุ่นและแสงสว่าง เจ้าของนาค่อยรินสาโท ใส่ขันน้อย บางทีก็กะลามะพร้าว นั่นละคือ ความสุขที่สุด จากนั้นเสียงตีข้าวก็ดัง ตุ๊บตั๊บๆ สอดแทรกด้วยเสียงเพลงหวีดแหลมดังขึ้น บางคนโยน บางคนตี บางคนริน บางคนร้อง นี่แหละภาพชีวิตที่ผมจดจำและมันหายไปนานแล้ว

.

“พี่เป็นคนจน  จึงต้องจำทน  ทำงานเหนื่อยแรง

เหมือนดังกรรมบันดาล  นงคราญ  โอ๊ย..ก็แกล้ง

เรียกสินสอดเสียแพง  ให้พี่แต่ง โอ๊ย..เงินไม่มี 

ไร่นาที่ทำ   เวรกรรม   โอ๊ย..ก็แกล้ง

บังเกิดความแห้งแล้ง  แห้งแล้ง ไปเสียทั้งปี...”

 

..............

 

 

“ตื๊ดๆ ตื๊ดๆ ..”  เสียงโทรศัพท์ดัง ระรัวยาวนาน

“อะไร..?”  เสียงปลายสายยกหูรับ อย่างรำคาญ

“อาทิตย์หน้าผมจะกลับบ้านเด้อ แม่ทำสาโทไว้ให้ด้วย..”   ผมเอ่ยถ้อยความกำชับ เป็นที่รู้กัน

“เออๆๆ....”  ปลายสายตัดบท

.

ทั้งพ่อและแม่ และคนรอบบ้านพากันแปลกใจมาก “ไอ้ไนล์ ไปเรียนถึงกรุงเทพฯ มีเงินเดือนเป็นหมื่น  มันคิดอะไรถึงมาชอบกินสาโท..!!”  หลายคนถึงกับผิดหวัง เพราะเมื่อก่อนถ้าผมกลับบ้าน ผมจะติดเหล้าฝรั่งมาฝากเกือบทุกครั้ง พ่อและญาติๆรอบบ้าน หลายคนคาดหวังว่าควรจะได้กินเหล้าฝรั่ง เหมือนอย่างเคยๆ แต่ไม่แล้ว หลายปีมานี่ ผมไม่กินอะไรเลยนอกจากสาโท 

.

 “ยิ...กระจอกแท้”   บางคนต่อว่าซ้ำๆ

.

สำหรับผมแล้ว การไม่มีรากเหง้ามากกว่า ที่กระจอก ที่ไร้ตัวตน ไร้ศักดิ์ศรี การอยู่ในการปกครองของรัฐ ที่ถูกตัดสิทธิ์โอกาส ในสืบสานภูมิปัญญา วิถี วัฒนธรรม แล้วบีบบังคับให้ซื้อจากกลุ่มทุนผูกขาดไม่กี่ยี่ห้อ สุราแม้จะเป็นสิ่งชั่วร้ายในสายตาศีลธรรม แต่ก็เป็นสิ่งสำคัญ สร้างอารยธรรมมนุษย์ หล่อเลี้ยงชีวิตจิตใจมาแต่โบราณ เพราะสุรา เป็นสิ่งบริสุทธิ์ ผ่านการกลั่นเป็นไอ องค์ประกอบของเครื่องพิธีกรรมสำคัญๆทางความเชื่อ อันเป็นรากฐานมโนทัศน์ของคนในสังคม สุราเป็นองค์ประกอบของการเฉลิมฉลอง งานรื่นเริง สำคัญๆ แม้ ในวันเก็บเกี่ยวผลผลิต หรือวันผ่อนพักจากงานอันเหน็ดเหนื่อยหรืองานมงคลต่างๆ 

 

จำได้ว่า ในยุคแรกๆของงานเทศกาลนอนไร่ แค้มปิ้งไร่ทวนลม ผมยังทำสาโทสำรองไว้ทุกปี เผื่อเพื่อนพี่น้องเกษตรกร คนจนๆ ของผมมาร่วมงาน จะได้ไม่นั่งกินน้ำลายเปล่า อย่างน้อยๆ เราก็ีมีสาโทไว้ต้อนรับ พอได้เมามาย ร้องรำทำเพลง ขอบคุณโลก

.

 

มีเพื่อนบางคนพยายามนำสาโทไปสู่โลกว้าง ซึ่งไม่ง่ายเลย เราเป็นชาติที่ชอบพูดว่ารักชาติ แต่ในทางปฏิบัติมักเหยียดหยามกันเอง ผ่านการปฏิบัติต่อการเลือก หรือความนิยมต่อรูปแบบสินค้า ต่อแบรนด์สินค้า ผมทำไวน์ เป็นประเภทสินค้าที่คนทั้งโลกรู้จัก แต่ก็ยังเป็นแบรนด์ที่ชนบทมาก ดังนั้น การผลัดดัน สาโท ให้ขึ้นมาบนดิน ไม่เถื่อน ไม่ผิดกฎหมาย ว่ายาก แล้ว การทำให้คนสนใจ ดื่มสาโท ยากกว่าอีก 100 เท่า !!    

.

หาก ชาติ (Nation) ก็คือ รัฐ (State) ชาตินี้ไม่เคยรักรากหง้าตัวเองเลยแม้แต่สักนิดเดียว กระเทาะดูจากกฎหมาย พรบ.สุรา ฉบับใหม่ล่าสุด ให้สาโทต้องบรรจุขวดแก้ว ต้องรักษารสชาติ แอลกอฮอล์ให้คงที่ ซึ่งเป็นไปไม่ได้ สาโท เป็นเครื่องดื่มประเภทหมัก  5 วัน 7 วัน ก็นำมาดื่ม  เป็นไวน์สด ( fresh Wine) ทำมาจากแป้ง เก็บได้ไม่นาน  ไม่ใช่ผลไม้ และไม่ใช่ประเภทบ่ม แบบไวน์ ที่บ่มจนกลิ่น รส นิ่ง จึงนำออกมาดื่มกิน

.

แค่ความไม่เข้าใจ ไม่ยอมเข้าใจ กระบวนการ รูปแบบ คุณลักษณะ แล้วเขียนกฎหมายออกมา ก็ทำลาย หรือ ก็กีดกัน ขบวนการภูมิปัญญาเหล่านี้ได้หมดแล้ว

.

 

ชีวิตมนุษย์ แท้จริง ไม่ได้มีเนื้อหาสาระสำคัญอะไรนักหนา ตามคติพุทธก็อธิบายว่า คนเราเกิดมาเพื่อชดใช้กรรม เราเชื่อเช่นนี้มาตั้งแต่พุทธกาล ตั้งแต่ยุคทาส ยุคไพร่ ทำงานรับใช้ไร้ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์  มาจนถึงยุคทุนนิยม ยุคอุตสาหกรรม ยุคการค้า ยุคที่บาปบุญติดจรวด นั่งยานอวกาศไปสวรรค์ได้ มนุษย์ก็ยังต้องก้มหน้ากรากกรำ ทำงานหนัก ทำงานอย่างไร้ศักดิ์ศรีก็มาก ที่สำคัญ ยุคสมัยนี้คนจะอยู่รอดมีศักดิ์ศรีไม่ได้เลย ถ้าไม่มีเงินทอง เพื่อให้ได้ความสะดวกสบาย กินอื่มนอนอุ่น ฉะนั้น คนเกิดมาทำงาน ทำงาน ทำงาน (ชดใช้กรรม) เพื่อหาเงิน ในแง่หนึ่ง การมีชีวิตของมนุษย์ก็ไม่ได้มีเนื้อหาสาระสำคัญใดๆ เหมือนเคย

.

ดังนั้น หากเรา ไม่รู้จักเสพชีวิต ใช้ชีวิตเสียบ้าง ก็ยิ่งย่ำแย่....ครับ


โดย เกษตรกรขบถ ไร่ทวนลม

About Us

เว็บไทยเอ็นจีโอ สนับสนุนการใช้สัญญาอนุญาตครีเอทีฟคอมมอนส์และเผยแพร่แนวคิดวัฒนธรรมเสรี เนื้อหาในเว็บไซต์ไทยเอ็นจีโอดอทโออาจี ท่านสามารถเอาไปใช้งานได้เลยโดยไม่ต้องขออนุญาต เพียงท่านระบุที่มาและห้ามทำการค้า

ThaiNGO Team

ติดต่อประสานงาน - Contact
Tel : 099-014-3797

ทศพร แกล้วการไร่ : ผู้ดูแลเว็บ - Webmaster
Tel : 080-078-4016

อัฎธิชัย ศิริเทศ : บรรณาธิการ - Editor
Tel : 082-178-3849

Email : webmaster@thaingo.org

Office Hours : Mon-Fri , 9.00-17.00

Contact Info

2044/23 ถ.เพชรบุรีตัดใหม่ บางกะปิ ห้วยขวาง กรุงเทพ 10310

2044/23 New Phetchaburi Road, Bangkapi, Huai Khwang, Bankok 10310

+662 314 4112