Back

2 ทศวรรษ ไทยเอ็นจีโอ ตอนที่ 10  ลาออก....

24 June 2020

2327

2 ทศวรรษ ไทยเอ็นจีโอ  ตอนที่ 10  ลาออก....

2 ทศวรรษ ไทยเอ็นจีโอ

ตอนที่
10  ลาออก....

ความกดดันแกมชอกช้ำของคนทำงานเอ็นจีโอ คือ เมื่อถึงเวลาหนึ่ง อุดมการณ์เรากินไม่ได้ และเราหิวเพิ่มขึ้น เรามีเพื่อน เราภาระ เรามีทุนทางสังคม งานเคลื่อนไหว งานเครือข่าย งานสัมพันธ์ไมตรี นานาต่างๆ เข้ามามาก ตามบทบาท สถานะ และภารกิจ  งานเอ็นจีโอถ้าหากเป็นแก้ไขปัญหา สร้างความเข้มแข็ง สร้างกระแส สร้างการเปลี่ยนแปลง สร้างโอกาสในการต่อสู้ กำหนด กดดัน กฎหมาย นโยบาย แน่นอน อย่างแรกเลย คือ ทุ่มเท ฝังตัว อยู่นาน เพื่อสร้างการเรียนรู้ถึง สิทธิ เสรีภาพ บทบาท ของชาวบ้าน ชุมชน และประชาชน มันบอกยากว่าเมื่อไหร่ แค่ไหนจึงเข้าใจ ตระหนัก และพร้อมลุกขึ้น เรียกร้อง ต่อสู้ การฝังตัว การทำการศึกษา สร้างประสบการณ์ให้ชาวบ้าน มองเห็น เข้าใจ จึงสำคัญและใช้เวลา ใช้ศิลปะในการดึง เร้า แต่แหล่งทุน เหมือนพายุ ส่วนมากมาไวไปไว ไม่ได้ผูกพัน ผูกมัดเหมือนคนทำงานในพื้นที่ เพราะกว่าจะถูกยอมรับ ร่วมด้วย หรือมีส่วนร่วม ก็ล้วนแต่ใช้เวลา

วิธีคิดแหล่งทุนมักเคลื่อนไหว โยกย้ายไปตามกระแสสังคม กระแสโลก กระแสรัฐบาล กระแสงานพัฒนา แบบอื่น กลุ่มอื่น ทำให้คนทำงานเอ็นจีโอนานๆ ถ้าจะอยู่ให้ได้นาน บนวิถีงานอาชีพแบบนี้ จึงผันตาม เพราะเงินทำห้ท้องอิ่ม แต่การยึดอุดมการณ์ คำสัญญา และพันธกิจเดิมๆ นั้นทำให้หิว และล้มหายตายจากได้


ThaINGO.org ถูกลงทุนให้ริเริ่ม และต้องเลี้ยงตัวเองให้ได้ภายใน 3 ปี ฟังดู อ่านดูจากเอกสารโครงการ ซึ่งบางทีคนเขียนกับคนทำ คนละคนหรือบางที การเขียน มาจากการคิด มอง วิเคราะห์ แต่การทำขึ้นกับเงื่อนไขหลายอย่าง ถึงจะสำเร็จตามเป้าหมายได้

ผมเริ่มงานเมื่อเดือนตุลา
2543 กว่าเริ่มเข้าใจงาน กว่าจะค่อยๆ ลุกปั้นชื่อเสียง บทบาท ทำให้คนทำงานเอ็นจีโอรู้ www.thaingo.org ก็รวมเวลาเข้าปีที่ 3 ( 2545 ) เป็นที่ผมเริ่มถูกกดดันอย่างหนักให้ใช้เอ็นจีโอหารายได้ ชะตากรรมข่าวเล็กๆ ที่รายงานเพียงนักเคลื่อนไหวไร้ชื่อ รายงานข่าวชาวบ้าน แกนนำตัวเล็กๆ มีคนอ่านไม่กี่คนต่อวัน จะให้หารายได้มาจากไหน อย่างไร

ในสถานการณ์ที่เอ็นจีโอเริ่มแยกมิตร แยกศัตรูชัดเจน ขึ้นเรื่อยๆ มีการแซงชั้น ไม่คบหา ประนาม ใครก็ตามที่รับทุนบริษัท อาทิ  ปตท. หรือ บริษัทยักษ์ใหญ่ข้ามชาติ หรือทุนจากหน่วยงานรัฐที่ผลักโครงการส่งผลกระทบต่อชาวบ้าน อย่าง กฟผ. ชลประทาน ฯลฯ จะถูกแซงชั้น ดิสเครดิต ถูกเลิกคบ ถูกเลิกให้ความสัมพันธ์ ร่วมมือ ทำให้ผมตอนนั้นกลัวมาก ระแวดระวัง และเหลือเพียงที่มั่นสุดท้าย คือ สสส.

ความยุ่งยากลำบากของเราคนตัวเล็กๆ ที่ไม่มีชื่อเสียง ดังนั้น การจะขอแหล่งทุนไทย อย่าง สสส. นั้นยากมาก เพราะที่นี่ ต้องมีเส้นสาย ต้องมีที่ปรึกษาเป็นหมอ นักเคลื่อนไหวตัวใหญ่ๆ ดังๆ มาคอยออกหน้า ยกหูโทรศัพท์ ต่อสายตรง
กรณี ThaiNGO เป็นแค่สื่อโนเนมสำหรับแหล่งทุน  เขียนโครงการอะไร ไปขอทุนก็เงียบ แม้ว่าเราเป็นที่คุ้นเคย ที่รู้จัก ที่คาดหวังมากจากเพื่อนพี่น้องเอ็นจีโอและคนรุ่นใหม่ แต่ที่นี่ สสส. ไม่มีผล แอบส่งไปกี่ครั้งๆ ก็เงียบ (ทิ้งตะกร้า) จนเพื่อนพี่น้องบางคน เย้าแหย่ผมว่า เป็นเขา ส่งแค่กระดาษเปล่ายังได้เงินเลย หรือ เขียนแต่ชื่อโครงการว่าจะทำอะไรมาก่อน เดี๋ยวเขาจะกันงบไว้ให้ ฟังทีไร ผมโกรธจนร้อนไปทั้งตัว

มีวันหนึ่ง, มีเจ้าหน้าที่หนุ่ม เพิ่งจบมาหมาดๆ ด้านไอที จบสดๆร้อนๆ เป็นเด็กที่ถูกผู้ใหญ่ใน สสส. ปลาบปลื้มหลงรักและผลักดันให้ดูแลภารกิจสำคัญ คือ พิจารณาโครงการด้านไอที ผมหอบเอกสารหน้าหลายร้อยหน้า จำได้ว่า เขียนอยู่
3 เดือน เป็นแผนแม่บทการพัฒนา ThaiNGO ระยะ  5 ปี ผมเคี่ยวเข็ญเขียน แทบไม่หลับไม่นอน เขียนละเอียดยิบ ถึงภารกิจที่ทำ และทุนที่จะใช้ไปจนถึง รายได้ในอนาคตเพื่อเลี้ยงตนเอง อย่างยั่งยืน เจ้าหน้าที่หนุ่มคนนั้น ไม่เปิดสักหน้า และก็ถามแค่คำถามเดียวสั้นๆ ว่า  “ThaiNGO  ทำอะไรมาบ้าง ?” 

มันเป็นคำถามสั้นๆ แต่ผมนั่งคิดเกือบ
15 นาที  ก็คิดไม่ออก  คิดไม่ออกว่าจะเริ่มตอบยังไง  ตรงไหนดี  3 ปีที่ไม่ได้นอนพักในหอตัวเอง เลย 3 ปีที่เดินทางไปทั่วประเทศ นอนบนเบาะรถ และรอนแรมไปทุกที่ และ 3 ปี ที่นั่งหน้าจอ เกือบวันหละ 20 ชม. เขียน ตอบ รายงาน คนเดียว 3 ปีที่ เมื่อเอ่ยถึง น้อยคนนักไม่รู้จัก www.ThaiNGO.org การมีเด็กจบใหม่ มาชี้หน้าถามว่า “คุณทำอะไรมาบ้าง ?”   ผมยอมรับครับ ว่า ผมโกรธมาก  โกรธและเกลียด ไปถึงองค์กรอย่าง สสส.มาตราบทุกวันนี้

ต้นปี
2546 ผมแจ้ง ผู้อำนายการมูลนิธิกองทุนไทย คุณกรรชิต สุขใจมิตร ว่าผมขอลาออก เพราะผมล้มเหลวมากในการหาทุนมาสนับสนุน ThaiNGO   ผมยอมรับเรื่องนี้ไม่ได้ เพื่อนพี่น้องหลายคน ก็ไม่เชื่อว่า ThaiNGO จะขอทุนอะไรไม่ได้เลย เดือนพฤษภาคม ปี 2546 ผมพับกระเป๋าเสื้อผ้า ลงปักษ์ใต้ นครศรีธรรมราช เพื่อไปศึกษาต่อ ปริญญาโทที่นั่น เพราะผมหลงเสน่ห์ชีวิต การต่อสู้ของคนใต้ มาตั้งแต่สัมผัสครั้งแรก และเพื่อสาะแสวงหาความรู้ ในที่ๆ ผมไม่คุ้นเคย และยังต้องการหาอะไรใหม่ๆ ทั้ง ความจริง มุมมอง ความเข้าใจ ต่อสังคม วัฒนธรรมและธรรมชาติ ที่นั่น...

แม้ว่าผมจะรัก
ThaiNGO แค่ไหน แต่เพื่อโอกาสที่ก้าวหน้า พัฒนาตนเอง และยืนอยู่ต่อได้ ผมต้องวางมือปล่อยให้คนอื่นเข้ามาพิสูจน์ความสามารถพา ThaiNGO เดินไปข้างหน้า และนั่นหละ คือความรักที่แท้จริง ต่อ www.ThaiNGO.org ของผม.....

About Us

เว็บไทยเอ็นจีโอ สนับสนุนการใช้สัญญาอนุญาตครีเอทีฟคอมมอนส์และเผยแพร่แนวคิดวัฒนธรรมเสรี เนื้อหาในเว็บไซต์ไทยเอ็นจีโอดอทโออาจี ท่านสามารถเอาไปใช้งานได้เลยโดยไม่ต้องขออนุญาต เพียงท่านระบุที่มาและห้ามทำการค้า

ThaiNGO Team

ติดต่อประสานงาน - Contact
Tel : 099-014-3797

ทศพร แกล้วการไร่ : ผู้ดูแลเว็บ - Webmaster
Tel : 080-078-4016

อัฎธิชัย ศิริเทศ : บรรณาธิการ - Editor
Tel : 082-178-3849

Email : webmaster@thaingo.org

Office Hours : Mon-Fri , 9.00-17.00

Contact Info

2044/23 ถ.เพชรบุรีตัดใหม่ บางกะปิ ห้วยขวาง กรุงเทพ 10310

2044/23 New Phetchaburi Road, Bangkapi, Huai Khwang, Bankok 10310

+662 314 4112