Back

2 ทศวรรษ ThaiNGO ตอนที่ 6  ดุดัน แบบพี่น้องชาวใต้

14 May 2020

6395

2 ทศวรรษ ThaiNGO ตอนที่ 6  ดุดัน แบบพี่น้องชาวใต้

2 ทศวรรษ ThaiNGO ตอนที่ 6  ดุดัน แบบพี่น้องชาวใต้

ปี
2545 ผมเริ่มตกหลุมรักปักษ์ใต้จากลงพื้นที่ร่วมกับสถานการณ์ต่อสู้เรื่องท่อก๊าซไทย-มาเลย์ ที่อ.จะนะ สงขลา ตื่นเต้นตื่นตาตื่นใจกับ “วาทกรรมมึงสร้างกูเผา” ในสมัยนั้นมาก เราคนหนุ่ม ที่ร้อนแรงกับแนวทางการต่อสู้แบบตาต่อตาฟันต่อฟัน คนหนุ่มที่อยากจะเห็นประชาชนมีสิทธิ์มีเสียงกำหนดชะตาตนเอง มีอำนาจต่อต้านต่อกรกับรัฐได้บ้าง การได้มาสัมผัส อะไรที่ดูแปลกใหม่ มีความหวัง ทำให้ติดตามแบบเกาะขอบกิจกรรมทีเดียว ซึ่งคาแรกเตอร์แบบนี้ ไม่มีในขบวนประชาชน ทางอีสาน หรือ ทางเหนือ ที่เน้นเจรจา ปักหลัก ยืดเยื้อ ลมๆแล้งๆ นอกจากเรื่องท่อก๊าซ ไทย-มาเลย์ ก็เริ่มตามเรื่องอื่นๆ ทั้งเรื่องบุกยึดที่ดินสวนปาล์มและเผาเกาะไผ่ ที่กระบี่ เครือข่ายรักษ์เทือกเขาบรรทัด ชมรมประมงพื้นบ้าน 14 จังหวัด ป่าชายเลนสุราษฎร์ สัมปทานระเบิดหินที่ห้วยยอด ตรัง เขื่อนปากพนัง ที่ดิน ม.วลัยลักษณ์ กลุ่มอนุรักษ์วังลุง นครศรีฯ โรงไฟฟ้าถ่านหิน ที่ประจวบฯ เป็นต้น

ในความเหมือนที่แตกต่างของคนทำสื่อตัวเล็กๆ ที่มาใหม่มาแรงตามกระแสการเกิดขึ้นของโลกอินเตอร์ และระบบดิจิตอล ที่สามารถเผยแพร่ได้ภาพและเสียง ในทันที และคนทั้งโลกรับรู้ได้ เห็นได้ กับสนามการตอบโต้ ปะทะ แจกแจงแลกเปลี่ยน คือ เว็บบอร์ด ที่ผมจะต้องสละเวลาวันละหลายๆ ชั่วโมง เพื่อมานั่งอ่าน ประเมิน และดูทิศทางการพูดคุย เพื่อควบคุมบางหัวข้อที่อาจจะเปราะบางสุ่มเสี่ยงต่อความผิดทางกฎหมาย อาทิ หมิ่นประมาท จาบจ้วงสถาบัน ฯลฯ และที่น่าตื่นตาคือ การลงพื้นที่ ทั้งเพื่อไปสัมภาษณ์ ไปคุ้นเคยรู้จัก เห็นความจริง และไปแลกเปลี่ยนเชิญชวน นักพัฒนา นักเคลื่อนไหว แกนนำ ให้เข้ามาที่ www.thaingo.org เพื่อมาให้ข้อมูล สถานการณ์ ความจริง กับประชาชน คนอยากรู้ ฯลฯ

ตามนโยบายการก่อร่างสร้างไทยเอ็นจีโอ ไม่ได้มีแผนให้นักข่าวลงพื้นที่ แต่ให้โทรสัมภาษณ์ หรือ อีเมล์ขอข้อมูล ซึ่งผมมี
2 เหตุผล คือ หนึ่ง สื่อจะเล็กหรือใหญ่ (ในสมัยนั้น) สื่อใช้เป็นเครื่องมือปกป้องนักต่อสู้ได้ เพราะสื่อ จะทำให้เจ้าน้าที่หรือ กลุ่มอิทธิพล เกรงใจ กลัวได้ สื่อสามารถทำให้เรื่องเงียบเป็นเรื่องเป็นราวในสังคมได้ แค่มีภาพข้อเท็จจริง มีเสียง มีหลักฐาน เท่านั้นก็พอ และ สอง สื่อต้องเข้าถึง เข้าใจ สถานการณ์ ความจริง และรวมถึงรู้จักรู้ใจคนทำงาน คนต่อสู้ ในพื้นที่ ความเข้าใจ ความสัมพันธ์ ที่ดี นำมาซึ่งความร่วมมือ ทำให้เรารู้ก่อน รู้กว่า รู้ลึก ต่อสถานการณ์แต่ละที่ และนั่นแหละที่เป็นเหตุผล ว่าทำไม ผมได้รับการอนุญาตจากผู้อำนวยการ ( คุณกรรชิต สมใจมิตร ) เสมอมา

ภาคอื่นๆ อย่างเหนือ อีสาน ผมคุ้นเคย ผมทำตัวได้ตามสบาย จะพูด จะเขียน จะวางตัวยังไงก็ได้ ไม่แปลกแยก ไม่ถูกเพ็งเล็ง แต่การหันมาลงพื้นที่ภาคใต้ ไปกิน ไปนอน คลุกคลี นับว่ามีความตื่นตรหนกไม่น้อย แม้ว่าจะหลายปีผ่านไป ผมก็ยังไม่เคยไว้วางใจตัวเอง และคนในพื้นที่เองก็ไม่เคยไว้วางใจผู้มาเยือน

และผมเป็นคนมีลูกบ้า แปลกๆระห่ำๆ เสี่ยงตาย อยู่เรื่อยๆ ครั้งหนึ่งเมื่อได้ยินกิตติศัพท์ เล่าขานกันว่า มีหมู่บ้านแห่งหนึ่งในที่ในอดีตเคยเป็นหมู่บ้านคอมมิวนิสต์ และปัจจุบัน ผู้ใหญ่บ้านโหดมาก ถ้าเป็นยาเสพติด หากจับได้จะนำไปเฆี่ยนให้หลาบจำ แต่จะไม่ยอมให้ตำรวจ
!!  และผู้ใหญ่บ้านคนนี้ เคยนำกำลังชาวบ้านไปล้อมจับเจ้าหน้าที่ป่าไม้มาแล้ว ผมฟังแล้วนอนไม่หลับ ค้นหาคนแบบนี้มาทั้งชีวิต เมื่อเวลาสะดวก กล้อง เครื่องบันทึกเสียงพร้อม ผมออกเดินทางไปหมู่บ้านเล็กๆ ริมเทือกเขาหลวง อ.พรหมคีรี นครศรีธรรมราช ทันที

บ่ายคล้อยใกล้พลบค่ำ หลังจากมาถึง ผมก็เดินเตร็ดเตร่ ด้อมๆมองๆ สำรวจ ถ่ายรูป ท่ามกลางสายตาสองสามคู่ที่แอบมองผมเงียบๆ สักพัก ผมก็ถูกเชิญมาที่ศาลา โดยชายหนุ่มอายุราว
30 เศษ เขาเสียงดุดันดูขุ่นเคือง ดวงตากร้าว ผมยาว ผมเริ่มสั่นสะเทิ้มหนาวๆร้อนๆ

ผมนั่งลงเงียบๆ หัวใจตื่นเต้นโครมคราม เราจะโดนฆ่าทิ้งอย่างที่เขาเล่าเขาเตือนก่อนมาหรือเปล่า นะ ? ผมคิดในใจ เบื้องหน้าผมเป็นลุงแก่ๆ อายุราว 60 ปลายๆ ใบหน้าเรียบนิ่ง ยิ้มเล็กๆ เพื่อให้เราผ่อนคลาย แกนั่งมองผมเงียบๆ อยู่นาน จนผมอึดอัด กระสับกระส่าย จากนั้นจึงค่อยๆถาม แรกๆเพื่อเค้นความจริง ว่าผมคือใคร เป็นเจ้าหน้าที่ เป็นสายข่าว หรือเปล่า ? ผมพยายามสุดกำลัง ว่า ไม่ใช่  ลุงคนนั้นไม่ได้ ฟังที่ผมพูด แต่มองแววตาในระหว่างผมตอบ เนิ่นนาน จนพอใจ ลุงจึงยิ้มให้ผม และบอกชายหนุ่มว่า ให้พาผมไปหาผู้ใหญ่

ผู้ใหญ่ถามคำถามเดียว ที่เห็นผม คือ ไปพบลุงมาหรือยัง จากนั้นก็พาเข้าบ้าน และลงมือทำกับข้าวให้ผมกิน ผมค้างที่นั่นหนึ่งคืน เมื่อกลับมาถึงที่พักในเมือง หลายคนเปรยว่า ผมไม่ธรรมดา สามารถไปนอนบ้านผู้ใหญ่บ้านได้ และกลับมาโดยปลอดภัยด้วย แรกๆ ผมก็ยังงงๆ ภายหลังจึงรู้ว่า ลุงคนนั้นในอดีตเคยเป็นผู้นำขบวนการคอมมิวนิสต์ ดูแลพื้นที่นครศรีธรรมราช สุราษฎร์


และเหตุการณ์รอบนั้นเอง ที่ทำให้ผมรู้ว่า การที่นักเลง (ปักษ์ใต้) หรือ ผู้ชายปักษ์ใต้ ทำอาหารต้อนรับขับสู้แขกมาเยือน ด้วยตัวเอง นั้น หมายถึง เขาชอบคอ จริงใจคบหาให้เกียรติเรา
ผมยังจำคำพูดก่อนอำลาในเช้าวันกลับกรุงเทพฯ ได้  “น้องไนล์ เป็นคนแหลงสนุก ตอใดมีโอกาสมาหาอีกนะ “  ผมแอบยิ้มขำๆ ตั้งแต่บ่ายวันวาน จนถึงยามเช้า ผมได้แต่ฟังและพูดว่า “ครับ...ครับๆ” ผมกลายเป็นเพื่อนที่คุยสนุก ไปได้....

About Us

เว็บไทยเอ็นจีโอ สนับสนุนการใช้สัญญาอนุญาตครีเอทีฟคอมมอนส์และเผยแพร่แนวคิดวัฒนธรรมเสรี เนื้อหาในเว็บไซต์ไทยเอ็นจีโอดอทโออาจี ท่านสามารถเอาไปใช้งานได้เลยโดยไม่ต้องขออนุญาต เพียงท่านระบุที่มาและห้ามทำการค้า

ThaiNGO Team

ติดต่อประสานงาน - Contact
Tel : 099-014-3797

ทศพร แกล้วการไร่ : ผู้ดูแลเว็บ - Webmaster
Tel : 080-078-4016

อัฎธิชัย ศิริเทศ : บรรณาธิการ - Editor
Tel : 082-178-3849

Email : webmaster@thaingo.org

Office Hours : Mon-Fri , 9.00-17.00

Contact Info

2044/23 ถ.เพชรบุรีตัดใหม่ บางกะปิ ห้วยขวาง กรุงเทพ 10310

2044/23 New Phetchaburi Road, Bangkapi, Huai Khwang, Bankok 10310

+662 314 4112