Back

รัฐไทยอยู่หรือไป... ในมาตรฐานโลกด้านการปกป้องสิทธิผู้หญิง

19 March 2020

1677

รัฐไทยอยู่หรือไป... ในมาตรฐานโลกด้านการปกป้องสิทธิผู้หญิง

ขอบคุณภาพจาก มูลนิธิผู้หญิง ; http://womenthai.org/?p=185

องค์กรโพรเทคชั่น อินเตอร์เนชั่นแนล  ผสานผู้หญิงนักปกป้องสิทธิฯ จัดเวทีตัดเกรดรัฐไทยอยู่หรือไปในมาตรฐานโลกด้านการปกป้องสิทธิผู้หญิง พร้อมเปิดตัวรายงานการให้คะแนนความก้าวหน้าของรัฐบาลไทยในการปฏิบัติตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการ (CEDAW)  เผยรัฐติดเกรด F เกือบทุกประเด็นและสอบตกมาตรฐานโลกด้านปกป้องสิทธิผู้หญิง พบ 3ปี มีเพียง 2 ด้านคือ “กฎหมายและการแสวงหาประโยชน์จากการค้าประเวณี”ที่เริ่มขยับ แต่ยังต้องปรับปรุง จี้ หยุดใช้กฎหมายปิดปากผู้หญิงนักปกป้องสิทธิ

เมื่อวันที่ 4 มีนาคม ที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศ องค์กรโพรเทคชั่น อินเตอร์เนชั่นแนล  (PI) ภายใต้การสนับสนุนของสถานทูตแคนาดา ประจำประเทศไทย ภายใต้โครงการกองทุนแคนาดาเพื่อความริเริ่มท้องถิ่น(Canada Fund for Local Initiatives - CFLI) ได้จัดงานแถลงข่าวในหัวข้อ “ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิฯตัดเกรดรัฐไทยอยู่หรือไป” ในมาตรฐานโลกด้านการปกป้องสิทธิผู้หญิง เนื่องในวันครบรอบ 103 ปีวันสตรีสากล โดยเปิดตัวรายงานการให้คะแนนความก้าวหน้าของรัฐบาลไทยในการปฏิบัติตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการสหประชาชาติว่าด้วยอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ (CEDAW) โดยมี น.ส.ปรานม สมวงศ์ จากองค์กรโพรเทคชั่น อินเตอร์เนชั่นแนล  น.ส.ชูศรี โอฬาร์กิจ ตัวแทนจากสหพันธ์เกษตรกรภาคใต้   น.ส. อลิสา บินดุส๊ะ   กลุ่มนักกฎหมายอาสาเพื่อสิทธิมนุษยชน สิ่งแวดล้อม และประชาธิปไตย และน.ส.ภัทราภรณ์ แก่งจำปา ตัวแทนกลุ่มคนรักษ์บ้านเกิด 6 หมู่บ้านจังหวัดเลย เป็นตัวแทนของผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชน 15 เครือข่าย เข้าร่วมเสนอรายงานในครั้งนี้

ทั้งนี้ อนุสัญญา CEDAW เป็นกลไกการพิทักษ์สิทธิของผู้หญิงและเด็กผู้หญิงตามกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ เพื่อขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบและสนับสนุนความเสมอภาค ซึ่งอนุสัญญาฉบับนี้รัฐบาลไทยได้ลงนามเป็นประเทศสมาชิกตั้งแต่ปี พ.ศ. 2528

น.ส.ปรานม สมวงศ์ จากองค์กรโพรเทคชั่น อินเตอร์เนชั่นแนล กล่าวว่า เป็นเวลาเกือบ 3 ปีแล้ว ที่คณะกรรมการ CEDAW ได้ให้ข้อเสนอแนะที่สำคัญต่อรัฐบาลไทย ซึ่งข้อเสนอเหล่านี้มีผลผูกพันทางกฎหมายตั้งแต่ปี พ.ศ. 2560 ที่รัฐบาลไทยได้เข้าร่วมรายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนของผู้หญิงต่อคณะกรรมการ CEDAW ที่กรุงเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เครือข่ายผู้หญิงนักปกป้องสิทธิ จึงได้ร่วมกันประเมินการทำงานของรัฐบาลไทยระหว่างเดือนกรกฎาคม 2560 ถึงเดือนธันวาคม2562 ว่ารัฐไทยได้ดำเนินการตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการ CEDAW มากน้อยแค่ไหนอย่างไรในรูปแบบของการจัดเกรดให้คะแนน ผ่านรายงานการให้คะแนนความก้าวหน้าของรัฐบาลไทยในการปฏิบัติตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการ (CEDAW)  ก่อนที่คณะกรรมการ CEDAWจะมีการประเมินการทำงานของรัฐบาลไทยต่ออนุสัญญา CEDAWในรอบหน้ากำลังจะมาถึงนี้ ซึ่งรายงานที่เราจัดทำขึ้นก็เพื่อสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาสถานการณ์และข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นกับผู้หญิงนักปกป้องสิทธิในประเทศไทย

น.ส.ปรานม กล่าวว่า ในส่วนการให้คะแนนแบ่งออกเป็น 5 เกรด คือ เกรด A คือปฏิบัติตามอนุสัญญาและข้อเสนอของ คณะกรรมการ CEDAW อย่างน่าพึงพอใจ เกรด B มีการปฏิบัติตามพอสมควร เกรด C มีการปฏิบัติบ้างแต่ยังคงต้องปรับปรุง เกรด D มีการปฏิบัติบ้างแต่ถือว่าน้อยมากต้องปรับปรุงอย่างยิ่ง และเกรด F ไม่มีการปฏิบัติใดใดจากรัฐบาลหรือมีการปฏิบัติในแบบที่ตรงกันข้ามกับอนุสัญญาและข้อเสนอแนะของคณะกรรมการ CEDAW โดยเกรดต่างๆนั้นจะประเมินจากข้อเสนอ 8 ประเด็นของคณะกรรมการ CEDAW  ที่ให้ไว้แก่รัฐบาลไทย ประกอบด้วย 1.กรอบแห่งรัฐธรรมนูญและกฎหมาย 2.การเข้าถึงความยุติธรรมและการเยียวยา3.ประสิทธิภาพและความเป็นอิสระของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ 4.ผู้หญิงสันติภาพและความมั่นคง  5.ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชน 6.ผู้หญิงชนบท 7.การแสวงประโยชน์จากการค้าประเวณี และ8.ความยากจน

ชี้พ.ร.บ.ความเท่าเทียมทางเพศยังซับซ้อน พบผู้หญิงจังหวัดชายแดนใต้เข้าไม่ถึง

สำหรับประเด็นเรื่องกรอบรัฐธรรมนูญและกฎหมาย ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิ 15 เครือข่ายระบุในรายงานว่า คณะกรรมการ CEDAW ได้มีการเสนอแนะให้รัฐบาล แก้ไขมาตรา 17 (2) ของพ.ร.บ.ความเท่าเทียมทางเพศฯ เพื่อสร้างหลักประกันว่าจะไม่มีข้อยกเว้นในการห้ามไม่ให้มีการเลือกปฏิบัติระหว่างเพศ และการสร้างหลักประกันว่าผู้หญิงและเด็กผู้หญิงทุกคนที่อาศัยในพื้นที่ภายใต้กฎหมายพิเศษในสถานการณ์ฉุกเฉิน จะได้รับการคุ้มครองจากการเลือกปฏิบัติอย่างมีประสิทธิภาพ แต่พบว่ารัฐบาลปฏิบัติตามข้อเสนอบ้างแต่ถือว่าน้อยมาก ขณะเดียวกันกลไกตามกฎหมายฉบับนี้มีความซับซ้อน และผู้หญิงจากสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ยังไม่สามารถเข้าถึงได้ อีกทั้งยังพบการเลือกปฏิบัติทางเพศภายใต้พ.ร.ก.ฉุกเฉินและสถานการณ์ความรุนแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ด้วย นอกจากนี้มาตรา 17 (2) ของกฎหมายฉบับนี้ยังคงอยู่ทำให้ผู้หญิงที่ทำงานบริการ ผู้หญิงชาติพันธุ์ ผู้หญิงผู้ลี้ภัย ยังคงไม่ได้รับความคุ้มครองเนื่องจากถูกทำให้เป็นเรื่องของความมั่นคงของประเทศและหลักศาสนา อย่างไรก็ตามในส่วนความก้าวหน้า รัฐบาลได้ตั้งคณะกรรมการส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศแห่งชาติ ดังนั้นผลประเมินจึงได้เกรด “D-“ ซึ่งเครือข่ายผู้หญิงนักปกป้องสิทธิฯ มีข้อเสนอแนะให้ปฏิรูปรัฐธรรมนูญเพื่อส่งเสริมและให้เคารพสิทธิผู้หญิงมากขึ้น

เผยมีผู้หญิงนักปกป้องสิทธิฯ เพียง 25 รายจาก 440 เข้าถึงกองทุนยุติธรรม จี้ ปรับปรุงให้เข้าถึงได้ง่าย

ส่วนประเด็นการเข้าถึงความยุติธรรมและการเยียวยานั้นผู้หญิงนักปกป้องสิทธิ 15 เครือข่ายเห็นว่า ยังไม่มีการปฏิบัติใดๆจากรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นการตีตราทางสังคมและวัฒนธรรม ซึ่งยับยั้งผู้หญิงและเด็กให้แจ้งความดำเนินคดี โดยเฉพาะกรณีความรุนแรงทางเพศ  อีกทั้งทัศนคติทางลบของเจ้าหน้าที่ที่บังคับใช้กฎหมายต่อผู้หญิงที่ร้องเรียนการละเมิดสิทธิที่เกิดขึ้นกับตนเอง  ทำให้การแจ้งความและสอบสวนไม่ประสบความสำเร็จ ดังนั้นรัฐควรที่จะลดความซับซ้อนของกระบวนการเข้าถึงกองทุนยุติธรรมและสร้างหลักประกันว่ากองทุนจะเป็นประโยชน์ที่ผู้หญิงทุกคนสามารถเข้าถึงได้

“ในจำนวนข้อเสนอที่คณะกรรมการCEDAW ได้เสนอแนะมานั้น ไม่มีข้อไหนที่รัฐบาลทำตามได้เลย กลับกลายเป็นว่าการเข้าถึงกองทุนยุติธรรมมีอุปสรรคและยากขึ้นไปอีก โดยที่ผ่านมามีผู้หญิงนักปกป้องสิทธิจากชุมชนเพียง 25 รายจาก440 รายที่ได้รับการช่วยเหลือจากกองทุนยุติธรรม ดังนั้นผลประเมินของรัฐบาลในด้านนี้คือ F ”.......ระบุ

พ.ร.ป.กสม.เอื้อปกป้องรัฐมากกว่าสิทธิมนุษยชน ขณะที่การสรรหาขาดความโปร่งใส-มีส่วนร่วม

ส่วนข้อเสนอเกี่ยวกับคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.)นั้นผู้หญิงนักปกป้องสิทธิ 15 เครือข่ายเห็นว่า ยังไม่มีการปฏิบัติใดๆ จากรัฐบาลที่เป็นรูปธรรมชัดเจนตามที่คณะกรรมการCEDAW เสนอแนะเช่นกัน โดยเฉพาะความไม่ชัดเจน ความไม่โปร่งใสและขาดการมีส่วนร่วมในกระบวนการสรรหาและแต่งตั้งกสม. ซึ่งพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ.2560 (พ.ร.ป. กสม.) ขัดต่อหลักการปารีส มีการให้อำนาจประธานศาลฎีกาและประธานศาลปกครองเป็นผู้แต่งตั้งกสม.ชั่วคราว ซึ่งเป็นประเด็นที่มีปัญหาแต่รัฐบาลไม่ได้ปฏิบัติตามแต่อย่างใด

“ปี2561 สนช.ได้แต่งตั้งข้าราชการที่เกษียณแล้ว 2 คนมาเป็นกสม.โดยตัดโอกาสผู้สมัครอื่นๆที่มีประสบการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนมากกว่าอย่างชัดเจน ในปี2562 กสม.ที่มีบทบาทโดดเด่นในการทำงานสองคนคือนางเตือนใจ ดีเทศน์ และนางอังคณา นีละไพจิตร ลาออกจากกสม. ซึ่งที่ผ่านมากสม.เคยเป็นสถาบันอิสระที่ครั้งหนึ่งประชาชนทั่วไปสามารถเข้าไปขอความช่วยเหลือ เพื่อหนุนเสริมการต่อสู้ของชุมชน แต่ตอนนี้รู้สึกเหมือนประตูสู่กระบวนการยุติธรรมและกลไกการเยียวยาได้ปิดลงแล้ว นอกจากนี้กระบวนการในการตรวจสอบภายใต้พ.ร.ป.ฉบับนี้ทำให้กสม.มีอำนาจปกป้องรัฐบาลแทนที่จะปกป้องสิทธิมนุษยชน ด้วยเหตุนี้การประเมินจึงได้เกรด F”

แนะคุ้มครองผู้หญิงชายแดนใต้ เปิดทางให้เข้าถึงความยุติธรรม หยุดเก็บดีเอ็นเอ

ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิ 15 เครือข่ายเห็นว่า ยังระบุถึงข้อเสนอด้านผู้หญิงสันติภาพและความมั่นคงนั้น คณะกรรมการCEDAW มีประเด็นห่วงใยโดยเฉพาะผู้หญิงที่ต้องกลายเป็นหม้าย ทำหน้าที่แทนหัวหน้าครอบครัว โดยในประเด็นดังกล่าวรัฐบาลไม่มีการปฏิบัติการใดๆเกี่ยวกับข้อเสนอในด้านนี้ผลประเมินที่ได้จึงเป็นF อย่างไรก็ตามเห็นว่าจะต้องมีการพัฒนามาตรการพิเศษชั่วคราวให้กับผู้หญิงมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อสร้างหลักประกันถึงความเสมอภาคกับบุรุษในทุกๆด้าน รวมถึงจัดให้มีการช่วยเหลือทางสังคมและทางการเงินที่เพียงพอ เจ้าหน้าที่ต้องเคารพสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะการคุ้มครองผู้หญิงและเด็กหญิงที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับความขัดแย้งจากการใช้ความรุนแรงทุกรูปแบบ คนในพื้นที่จะต้องเข้าถึงความยุติธรรมและกระบวนการเยียวยาได้ ที่สำคัญจะต้องยุติการเก็บดีเอ็นเอโดยทันที

ขอรัฐ หยุด ใช้กฎหมาย กลั่นแกล้ง-คุกคาม ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิฯ เผย สถิติพุ่งอย่างต่อเนื่อง

 คณะกรรมการCEDAW ได้แสดงความเป็นห่วงว่าผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนที่ทำงานรณรงค์ในเรื่อง ที่ดิน สิ่งแวดล้อม สิทธิชนเผ่าพื้นเมือง สิทธิของคนชนบท ความหลากหลายทางเพศและผู้หญิงมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ จะตกเป็นเป้าหมายของการฟ้องร้องดำเนินคดีการคุกคามการใช้ความรุนแรงและการข่มขู่ที่เป็นผลมาจากการทำงาน โดยมีการกระทำจากเจ้าหน้าที่รัฐและองค์กรธุรกิจ จึงเสนอให้มีการใช้มาตรการต่างๆที่มีประสิทธิภาพในการคุ้มครองผู้หญิงเหล่านี้ ให้สามารถทำงานด้านสิทธิมนุษยชนได้อย่างเสรี ปราศจากการถูกคุกคาม ด้วยการฟ้องร้องคดี รวมทั้งการปรับปรุงประสิทธิภาพของสำนักงานคุ้มครองพยาน และให้ดำเนินการสืบสวนสอบสวนอย่างมีประสิทธิภาพ แต่พบว่าในความเป็นจริงจนถึงปัจจุบันนี้ รัฐบาลยังไม่มีการดำเนินการใดๆ ยังพบการกลั่นแกล้ง โดยว่ามีการดำเนินคดีผู้หญิงนักปกป้องสิทธิยังคงเพิ่มอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2560 มีผู้หญิงนักปกป้องสิทธิฯ จำนวน 179 คนถูกดำเนินคดี แต่ในปัจจุบันพบว่ามีผู้หญิงนักปกป้องสิทธิฯจากชุมชนอย่างน้อย 440 คนถูกดำเนินคดี ทั้งที่คณะกรรมการCEDAW ได้มีข้อเสนอให้รัฐบาลไทยยุติการกลั่นแกล้งด้วยกระบวนการยุติธรรมต่อผู้หญิงนักปกป้องสิทธิฯ

“พบว่า มีหลายคดีที่เป็นการฟ้องปิดปากเพื่อปิดกั้นการมีส่วนร่วมทางสาธารณะ โดยส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงคนจนเมืองที่เจอปัญหาการไล่รื้อที่อยู่อาศัย และผู้หญิงที่ต่อสู้ปกป้องสิทธิในที่ดินและทรัพยากร  นอกจากนี้ยังพบปัญหาการคุกคามทางเพศและดุหมิ่นศักดิ์ศรีต่อผู้หญิงนักปกป้องสิทธิในโลกออนไลน์อย่างต่อเนื่อง ในขณะที่เจ้าหน้าที่ไม่ให้ความสำคัญกับการร้องเรียนในประเด็นดังกล่าวเท่าใดนัก นอกจากนี้ตั้งแต่ปี 2560 ไม่พบว่ารัฐบาลสามารถนำตัวคนผิดในคดีที่เกี่ยวข้องกับการสังหารนอกระบบและการบังคับให้สูญหายมาลงโทษได้แม้แต่คดีเดียวดังนั้นผลประเมินจึงเป็น F “

ผู้หญิงในชนบท ไร้สิทธิ-ไร้เสียงในนโยบายที่ส่งผลกระทบต่อตนเอง  ถูกจำกัดสิทธิในที่ดิน-ทรัพยากรธรรมชาติ

เช่นเดียวกับข้อเสนอแนะเกี่ยวกับผู้หญิงชนบทนั้นผู้หญิงนักปกป้องสิทธิ 15 เครือข่ายเห็นว่ารัฐบาลได้เกรด F เนื่องจากไม่มีการปฏิบัติใดๆ ผู้หญิงในชนบท ยังขาดโอกาสเข้าถึงบริการทางสังคมขั้นพื้นฐาน ถูกกีดกันจากกระบวนการตัดสินใจเชิงนโยบายในเรื่องที่อาจส่งผลกระทบต่อตัวเอง และยังต้องเผชิญกับการถูกจำกัดสิทธิในที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติ เนื่องจากมีการนำที่ดินไปใช้ในโครงการพัฒนาต่างๆในการทำเมืองแร่และอุตสาหกรรมต่อเนื่อง หรือประกาศให้เป็นเขตอุทยานแห่งชาติ

“ตั้งแต่ปี 2560 เป็นต้นมาไม่มีมาตรการพิเศษชั่วคราวใดๆที่จะบังคับใช้ และไม่มีการลงทุนในโครงการที่สนับสนุนให้ผู้หญิงมีความก้าวหน้าแต่อย่างใด ในขณะที่งบประมาณด้านการทหารและความมั่นคงแห่งชาติมีถึงร้อยละ 11.5 นอกจากนี้ยังพบว่าการจ้างงานในกลุ่มผู้หญิงลี้ภัยเป็นแสนคน ยังเป็นเรื่องที่ผิดกฎหมาย แรงงานข้ามชาติยังคงประสบกับการแสวงหาประโยชน์และการเลือกปฏิบัติ ผู้หญิงชาติพันธุ์ที่ไม่มีบัตรประจำตัวไม่ได้รับการอนุญาตให้เดินทางและไม่สามารถประกอบอาชีพได้ ที่สำคัญยังพบว่าในส่วนของนโยบายทวงคืนพื้นป่า จำนวนกว่า 500 คดีมีประมาณเพียง 10 คดีเท่านั้น ที่ดำเนินคดีต่อธุรกิจขนาดใหญ่ ที่เหลือเป็นการดำเนินคดีต่อเกษตรกรรายย่อย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง ซ้ำร้ายในขณะที่เกษตรกรไร้ที่ดินถูกขับไล่ออกจากที่ทำกิน รัฐบาลกลับให้ที่ดินในป่าสงวน 6243 ไร่ให้กับบรรษัทขนาดใหญ่ไปจัดสรรเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ”

จี้พม.เปิดทาง ผู้หญิงบริการร่วมเสนอความเห็นร่างพ.ร.บ.ค้าประเวณี

ขณะที่การประเมินการทำงานของรัฐบาลเกี่ยวกับการแสวงประโยชน์จากการค้าประเวณีตามข้อเสนอของคณะกรรมการCEDAW ว่า พบว่ารัฐบาลมีการปฏิบัติตามข้อเสนอบ้างแต่ถือว่าน้อยมาก โดยในปัจจุบันกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์(พม.)กำลังทบทวนพ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี แต่กลับไม่มีช่องทางให้ผู้หญิงที่ทำงานบริการหรือองค์กรที่ทำงานเข้าไปมีส่วนร่วม  ทั้งนี้ขอเสนอให้มีการแก้ไขกฎหมายฉบับดังกล่าวโดยยกเลิกความผิดทางอาญาต่อผู้หญิงในการค้าประเวณี พร้อมลงโทษบุคคลที่แสวงหาประโยชน์จากผู้หญิงในการค้าประเวณี รวมถึงเจ้าหน้าที่รัฐที่กระทำความผิดด้วย นอกจากนี้ควรยุติมาตรการบุกเข้าจับกุมในสถานบันเทิงด้วยความรุนแรง การล่อซื้อ การบังคับ ข่มขู่ รีดไถ และจัดให้มีความช่วยเหลือ ฟื้นฟู เยียวยา และการกลับคืนสู่สังคมให้กับผู้หญิงและเด็กหญิงที่ถูกแสวงประโยชน์ในการค้าประเวณี อีกทั้งต้องสร้างหลักประกันว่าจะมีการบังคับใช้กฎหมายแรงงานและจัดสวัสดิการทางสังคมอย่างครบถ้วนในงานภาคบริการ

“ที่น่าตกใจได้ยินเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐบาลไทยพูดว่าเราไม่จำเป็นต้องทำตามที่CEDAW บอก งานบริการยังคงถูกทำให้เป็นอาชญากรรม ซึ่งตั้งแต่ปี 2560 มีผู้หญิงกว่า 5 หมื่นคนที่ถูกตัดสินว่ากระทำผิดด้วยพ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี จำนวนนี้มีผู้หญิง 105 คนที่ถูกล่อซื้อที่ร้านอาบอบนวด วิคตอเรีย ซีเคร็ต ในปี 2561 ทั้งที่คณะกรรมการCEDAW มีข้อเสนออย่างชัดเจนให้ยุติการบุกจับล่อซื้อ และกลับกลายเป็นว่าตำรวจสนับสนุนให้เอ็นจีโอทำงานแทน แนวทางเช่นนี้ทำให้ผู้หญิงต้องตกอยู่ในสถานการณ์ที่ถูกแสวงหาผลประโยชน์ไปอีก3เดือน จนกว่าเอ็นจีโอจะดำเนินการดังกล่าวเสร็จ”

ชี้ เหลื่อมล้ำสูง รัฐสอบตกแก้ยากจน ไร้แนวทางแก้ปัญหาคนจนเมือง ถูกไล่รื้อ-ตกงาน

สำหรับข้อเสนอแนะสุดท้ายเกี่ยวกับความยากจนนั้นผู้หญิงนักปกป้องสิทธิ 15 เครือข่ายเห็นว่า ประเมินการทำงานของรัฐบาลคือเกรด F โดยรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันออกแบบการขจัดความยากจนให้เป็นการกุศล มากกว่าเป็นสิทธิมนุษยชนที่ทุกคนควรได้รับ ซึ่งเป็นความรับผิดชอบของรัฐในการจัดหาสวัสดิการให้ประชาชน แม้ว่ารัฐบาลได้เริ่มใช้บัตรคนจนกับผู้มีรายได้น้อย แต่สวัสดิการดังกล่าวอยู่ในรูปแบบของการจับจ่ายในร้านบางร้านและจำกัดอยู่เฉพาะสินค้าบางชนิด โดยได้เพียง 300 บาทต่อเดือนเท่านั้น นอกจากนี้สวัสดิการสำหรับผู้สูงอายุ ผู้พิการ และเงินช่วยเหลือเด็กต่ำกว่าหกขวบ ยังไม่เพียงพอ อัตราความยากจนและความเหลื่อมล้ำในประเทศยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และในภาวะที่เศรษฐกิจถดถอยผู้หญิงซึ่งมีภาระและความรับผิดชอบในการเลี้ยงดูครอบครัวได้รับผลกระทบมากขึ้น ปลายปี 2562 โรงงานกว่า 200 แห่งถูกปิดตัวลง ทำให้คนงานผู้หญิงจำนวนมากตกงาน ในขณะเดียวกันผู้หญิงหลายพันคนและครอบครัวจากชุมชนคนจนเมืองยังเผชิญกับการถูกไล่ หรือโดยไม่มีการเสนอทางเลือกที่มีมาตรฐานเพียงพอหรือการชดเชยใดๆ

////////////////////

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมโทร 080-970-7492 ,096-913-3983

About Us

เว็บไทยเอ็นจีโอ สนับสนุนการใช้สัญญาอนุญาตครีเอทีฟคอมมอนส์และเผยแพร่แนวคิดวัฒนธรรมเสรี เนื้อหาในเว็บไซต์ไทยเอ็นจีโอดอทโออาจี ท่านสามารถเอาไปใช้งานได้เลยโดยไม่ต้องขออนุญาต เพียงท่านระบุที่มาและห้ามทำการค้า

ThaiNGO Team

ติดต่อประสานงาน - Contact
Tel : 099-014-3797

ทศพร แกล้วการไร่ : ผู้ดูแลเว็บ - Webmaster
Tel : 080-078-4016

อัฎธิชัย ศิริเทศ : บรรณาธิการ - Editor
Tel : 082-178-3849

Email : webmaster@thaingo.org

Office Hours : Mon-Fri , 9.00-17.00

Contact Info

2044/23 ถ.เพชรบุรีตัดใหม่ บางกะปิ ห้วยขวาง กรุงเทพ 10310

2044/23 New Phetchaburi Road, Bangkapi, Huai Khwang, Bankok 10310

+662 314 4112