Back

รายงานสังคมและการเมือง ฉบับที่ ๗ เดือนธันวาคม ๒๕๖๒

21 January 2020

1706

รายงานสังคมและการเมือง ฉบับที่ ๗ เดือนธันวาคม ๒๕๖๒

ปัญหา

ของการประกาศแหล่งหินอุตสาหกรรม

 

เขาเหล่าใหญ่-ผาจันได กลุ่มภูเขาลูกโดดใน ต.ดงมะไฟ อ.สุวรรณคูหา จ.หนองบัวลำภู เป็นพื้นที่ประทานบัตรทำเหมืองหินปูนของนายทุนรายหนึ่ง และกำลังมีกรณีพิพาทขัดแย้งกับชุมชนอยู่ในขณะนี้ เป็นแหล่งหินแหล่งหนึ่งที่ถูกประกาศกำหนดเป็นพื้นที่แหล่งหินอุตสาหกรรมเพื่ออุตสาหกรรมก่อสร้างไว้ตั้งแต่อยู่ในระหว่างบังคับใช้พระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2510  หรือกฎหมายแร่ฉบับเดิม  ซึ่งมีข้อกังขาว่าการประกาศกำหนดเป็นพื้นที่แหล่งหินอุตสาหกรรมเพื่ออุตสาหกรรมก่อสร้างเป็นการประกาศภายใต้บทบัญญัติมาตราใดของกฎหมายแร่ฉบับเดิม เพราะเท่าที่สำรวจตรวจดูก็ไม่พบว่ามีบทบัญญัติมาตราใดของกฎหมายแร่ฉบับเดิมอนุญาตให้ทำการประกาศเช่นนั้นได้

ต่อมาเมื่อพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2560  หรือกฎหมายแร่ฉบับใหม่  มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 29 สิงหาคม 2560  แทนกฎหมายแร่ฉบับเดิม  ก็ได้กำหนดให้มีการจัดทำยุทธศาสตร์และแผนแม่บทการบริหารจัดการแร่ (ยุทธศาสตร์การบริหารจัดการแร่ 20 ปี (พ.ศ. 2560 – 2579) และแผนแม่บทการบริหารจัดการแร่ พ.ศ. 2560 – 2564) ขึ้นมา  

โดยมีเงื่อนไขและหลักเกณฑ์ตามมาตรา 19 ว่าการอนุญาตให้ทำเหมืองให้พิจารณาอนุญาตได้เฉพาะในพื้นที่ที่กำหนดให้เป็น ‘เขตแหล่งแร่เพื่อการทำเหมือง’ เท่านั้น  และตามมาตรา 17 วรรคสี่ ว่า “พื้นที่ที่จะกำหนดให้เป็นเขตแหล่งแร่เพื่อการทำเหมืองต้องไม่ใช่พื้นที่ในเขตอุทยานแห่งชาติตามกฎหมายว่าด้วยอุทยานแห่งชาติ  เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าตามกฎหมายว่าด้วยการสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า  เขตโบราณสถานที่ได้ขึ้นทะเบียนไว้ตามกฎหมายว่าด้วยโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ  เขตพื้นที่ที่มีกฎหมายห้ามการเข้าใช้ประโยชน์โดยเด็ดขาด  พื้นที่เขตปลอดภัยและความมั่นคงแห่งชาติ  และพื้นที่แหล่งต้นน้ำหรือป่าน้ำซับซึม”

แต่ยุทธศาสตร์และแผนแม่บทฯดังกล่าวซึ่งคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบเมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2561 กลับระบุให้ “พื้นที่แหล่งหินอุตสาหกรรมเพื่ออุตสาหกรรมก่อสร้าง  ตามมติ ครม.  ประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม  และประกาศกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่  ที่ประกาศก่อนกฎหมายแร่ฉบับใหม่มีผลบังคับใช้  และที่ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการกำหนดแหล่งหินอุตสาหกรรม (อุตสาหกรรมเพื่อการก่อสร้าง) ของกระทรวงอุตสาหกรรมแล้ว  แต่ไม่สามารถประกาศได้ทันก่อนวันที่กฎหมายแร่ฉบับใหม่มีผลบังคับใช้”  เป็นเขตแหล่งแร่เพื่อการทำเหมืองได้

และยังมีพื้นที่อีก 4 ประเภท ถูกระบุไว้ในยุทธศาสตร์และแผนแม่บทฯดังกล่าวให้เป็นเขตแหล่งแร่เพื่อการทำเหมืองได้เช่นเดียวกัน  ดังนี้

(1) พื้นที่ตามประทานบัตร  คำขอต่ออายุประทานบัตร  และคำขอประทานบัตรที่ได้ออกให้หรือได้ยื่นไว้ตามกฎหมายแร่ฉบับเดิม  ก่อนวันที่กฎหมายแร่ฉบับใหม่มีผลบังคับใช้

(2) พื้นที่ตามอาชญาบัตรและคำขออาชญาบัตรที่ได้ออกให้หรือได้ยื่นไว้ตามกฎหมายแร่ฉบับเดิม  ก่อนวันที่กฎหมายแร่ฉบับใหม่มีผลบังคับใช้  เฉพาะพื้นที่ที่ผลการสำรวจพิสูจน์ได้ว่าเป็นแหล่งแร่อุดมสมบูรณ์และมูลค่าทางเศรษฐกิจสูง

(3) พื้นที่ประกาศกำหนดพื้นที่เป็นเขตสำหรับดำเนินการสำรวจ  การทดลอง  การศึกษาหรือการวิจัยเกี่ยวกับแร่ที่ออกตามกฎหมายฉบับเดิม  ที่ใช้บังคับอยู่ในวันก่อนวันที่กฎหมายแร่ฉบับใหม่มีผลใช้บังคับ  เฉพาะพื้นที่ภาคอีสานที่มีแร่โพแทชและเกลือหินเป็นชนิดแร่เป้าหมายของการประกาศ  ที่มีผลพิสูจน์ได้ว่าเป็นแหล่งแร่อุดมสมบูรณ์และมูลค่าทางเศรษฐกิจสูง

(4) พื้นที่ที่ดินที่มีกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครอง  ตามประมวลกฎหมายที่ดิน  กรณีการทำเหมืองประเภทที่ 1 ตามมาตรา 53 ของกฎหมายแร่ฉบับใหม่  หรือกรณีการทำเหมืองหินอุตสาหกรรมเพื่ออุตสาหกรรมก่อสร้าง  หรือกรณีการทำเหมืองประเภทอื่นตามที่คณะกรรมการนโยบายบริหารจัดการแร่แห่งชาติกำหนด

นั่นแสดงว่ายุทธศาสตร์และแผนแม่บทฯดังกล่าวเป็นเอกสารที่ขัดต่อกฎหมายแร่ฉบับใหม่  เพราะสิ่งที่ควรทำคือนำประกาศแหล่งหินอุตสาหกรรมเพื่ออุตสาหกรรมก่อสร้าง  ที่ประกาศครอบคลุมเกือบทุกจังหวัดในทุกภูมิภาคของประเทศไทย  ก่อนวันที่กฎหมายแร่ฉบับใหม่มีผลบังคับใช้  ซึ่งมีจำนวนรวมกัน 325 แหล่งหิน  รวมเป็นพื้นที่ 143,713 ไร่  มีปริมาณสำรองรวมกันถึง 8,127 ล้านเมตริกตัน  มาชำระล้างใหม่ด้วยการคัดเลือกตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขของกฎหมายแร่ฉบับใหม่  ว่าภูเขาลูกใดหรือแหล่งหินใดบ้างเป็นพื้นที่ตามมาตรา 17 วรรคสี่  ที่ไม่ควรถูกประกาศเป็นเขตแหล่งแร่เพื่อการทำเหมือง

ดังเช่นที่เขาเหล่าใหญ่-ผาจันได  ที่พบแหล่งโบราณคดีอายุย้อนหลังประมาณ 3,000 ปี  และพบว่าเป็นแหล่งต้นน้ำและป่าน้ำซับซึมสำคัญที่มีน้ำไหลซึมเล็ดลอดขึ้นมาจากใต้ดินเกือบทั้งปี  ซึ่งควรถูกกันออกจากการเป็นเขตแหล่งแร่เพื่อการทำเหมืองตามกฎหมายแร่ฉบับใหม่โดยทันที

 

 

การกลั่นแกล้งทางการเมือง โดยกระบวนการยุติธรรม

 

เป็นเหตุการณ์ที่ชวนให้สับสนยิ่งที่มีผู้ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญโดยกล่าวหาพรรคอนาคตใหม่ว่ามีแนวคิดและเจตนาล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข โดยมีความเชื่อมโยงกับองค์กรลับอย่าง 'อิลลูมินาติ' (Illuminati) (ซึ่งล่าสุดศาลรัฐธรรมนูญก็ได้มีหนังสือแจ้งไปยังพรรคอนาคตใหม่เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2562 ว่าคดีนี้มีพยานหลักฐานเพียงพอที่จะวินิจฉัยได้โดยไม่จำเป็นต้องทำการไต่สวนตามการร้องขอของพรรค  และได้นัดอ่านคำวินิจฉัยคดีนี้ในเวลา 11.30 น. ของวันที่ 21 มกราคม 2563) นั้น  แท้จริงแล้ว  หากมีองค์กรลับอย่างอิลลูมินาติที่มีทั้งเงินและอำนาจบนโลกนี้จริง  องค์กรลับดังกล่าวน่าจะอยู่ฝั่งรัฐบาลไทยเสียมากกว่าอยู่ฝั่งพรรคฝ่ายค้านอย่างอนาคตใหม่  เพราะถ้าองค์กรลับดังกล่าวอยู่ฝั่งพรรคอนาคตใหม่จริง  เหตุใดพรรคอนาคตใหม่ถึงโดนกลั่นแกล้งอย่างโหมกระหน่ำทุกทิศทางจากกลไกรัฐเยี่ยงนี้ 

โดยเฉพาะการใช้กระบวนการยุติธรรมกลั่นแกล้งพรรคอนาคตใหม่อย่างไร้มนุษยธรรม 

ไม่เพียงแค่คดีอิลลูมินาติ  ยังมีคดีกู้เงินที่ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณารับคำร้องให้ยุบพรรคจากกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2562  โดยให้เวลาพรรค 15 วัน เพื่อส่งเอกสารชี้แจง  และคดีที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ  หัวหน้าพรรค  พ้นสภาพการเป็น ส.ส. จากกรณีถือหุ้นสื่อไปแล้ว  อีกด้วย

สถานการณ์ดังกล่าว  ค่อนข้างทำให้การเมืองในปี 2563 น่าจะร้อนแรงจนอาจจะถึงทางตันได้ตั้งแต่ต้นปีทีเดียว  เหตุเพราะว่าเริ่มมีการเคลื่อนไหวของมวลชนที่ไม่พอใจต่อการนำเอากระบวนการยุติธรรมมากลั่นแกล้งพรรคอนาคตใหม่มากขึ้นเรื่อย ๆ  ซึ่งเป็นมวลชนที่ค่อนข้างจะประสานการเคลื่อนไหวทั้งในสื่อสังคมออนไลน์และบนท้องถนนเข้าด้วยกันอย่างมีพลังเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ

ในฝ่ายรัฐบาลเอง  ก็พยายามหล่อเลี้ยงและสร้างสถานการณ์ความขัดแย้งให้เกิดขึ้นเพื่อกระชับอำนาจให้เข้มแข็งขึ้น  ด้วยความหวังว่าถ้ายุบพรรคอนาคตใหม่ได้จริง  จะทำให้ ส.ส. พรรคอนาคตใหม่แตกพรรคเสียจนทำให้ฝ่ายค้านอ่อนแอลง  พรรคเพื่อไทยจะถูกโดดเดี่ยวลอยแพจนไม่สามารถเป็นฝ่ายค้านอย่างมีพลังได้อีกต่อไป  หากปราศจากพรรคอนาคตใหม่ร่วมวงไพบูลย์

นั่นคือมุมวิเคราะห์ของฝ่ายรัฐบาลที่เห็นว่าสามารถควบคุมความขัดแย้งให้อยู่ในกรอบการกดปราบได้  แต่สถานการณ์ดังกล่าวก็ประมาทไม่ได้ทั้งสองฝ่าย  อาจจะจริงอย่างที่ฝ่ายรัฐบาลวิเคราะห์คาดการณ์  หรืออาจจะมีตัวแปรอื่นที่เล็ดลอดจากการวิเคราะห์คาดการณ์ของฝ่ายรัฐบาลจนทำให้ไม่สามารถควบคุมการเคลื่อนไหวของมวลชนที่เกลียดชังรัฐบาลให้อยู่ในกรอบการกดปราบได้  จนกลายเป็นลุกลามบานปลายและขับไล่รัฐบาลอย่างมีพลัง

ต้องรอดูกิจกรรม ‘วิ่ง-ไล่-ลุง’ ที่จะเริ่มเขี่ยลูกพร้อมกันหลายจังหวัดทั่วทุกภูมิภาคในวันที่ 12 มกราคม 2563  และคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญกรณีองค์กรลับอิลลูมินาติในวันที่ 21 มกราคม 2563 นี้  ว่าจะทำให้กระแสมวลชนที่เกลียดชังรัฐบาลจุดติด  โดยสามารถทำการเคลื่อนไหวอย่างแผ่วงกว้างหลังเดือนมกราคม 2563 ได้หรือไม่  แค่ไหน  อย่างไร

About Us

เว็บไทยเอ็นจีโอ สนับสนุนการใช้สัญญาอนุญาตครีเอทีฟคอมมอนส์และเผยแพร่แนวคิดวัฒนธรรมเสรี เนื้อหาในเว็บไซต์ไทยเอ็นจีโอดอทโออาจี ท่านสามารถเอาไปใช้งานได้เลยโดยไม่ต้องขออนุญาต เพียงท่านระบุที่มาและห้ามทำการค้า

ThaiNGO Team

ติดต่อประสานงาน - Contact
Tel : 099-014-3797

ทศพร แกล้วการไร่ : ผู้ดูแลเว็บ - Webmaster
Tel : 080-078-4016

อัฎธิชัย ศิริเทศ : บรรณาธิการ - Editor
Tel : 082-178-3849

Email : webmaster@thaingo.org

Office Hours : Mon-Fri , 9.00-17.00

Contact Info

2044/23 ถ.เพชรบุรีตัดใหม่ บางกะปิ ห้วยขวาง กรุงเทพ 10310

2044/23 New Phetchaburi Road, Bangkapi, Huai Khwang, Bankok 10310

+662 314 4112