Back

รายงานสังคมและการเมืองฉบับที่ ๖ เดือนพฤศจิกายน ๒๕๖๒

21 January 2020

2037

รายงานสังคมและการเมืองฉบับที่ ๖ เดือนพฤศจิกายน ๒๕๖๒

สำรวจเบื้องต้น

โครงการเหมืองแร่โปแตชด่านขุนทด

 

เมื่อมีการพูดถึงโครงการเหมืองแร่โปแตชในภาคอีสาน  คนส่วนใหญ่จะนึกถึงที่จังหวัดอุดรธานีที่มีการต่อสู้คัดค้านมาอย่างยาวนาน (อยู่ในขั้นขอประทานบัตร)  และที่สกลนครที่มีการเดินรณรงค์กันไปเมื่อปลายปีที่แล้ว (อยู่ในขั้นอาชญาบัตรพิเศษขุดเจาะสำรวจแร่)  หรืออาจจะเป็นที่ชัยภูมิที่มีการทำเหมืองแร่ร่วมกับโรงไฟฟ้าถ่านหิน (ได้รับประทานบัตรแล้ว กำลังหาเงินลงทุนเพื่อพัฒนาเหมือง  ส่วนโรงไฟฟ้าถ่านหินเปลี่ยนเป็นโรงไฟฟ้าชีวมวล)  แต่มีอีกที่หนึ่งที่ไม่ค่อยถูกพูดถึงและมีการดำเนินโครงการไปอย่างรวดเร็วกว่าพื้นที่อื่น ๆ จนสามารถเริ่มโครงการได้แล้วที่อำเภอด่านขุนทด จ.นครราชสีมา

จึงเป็นสิ่งที่สังคมควรต้องรับรู้ว่าการทำเหมืองแร่โปแตชที่ทำการก่อสร้างแล้วนั้นมีมาตรฐานดีขนาดไหน  ปลอดภัย  ใส่ใจสิ่งแวดล้อมหรือไม่ อย่างไร 

จากการลงสำรวจในเบื้องต้นเมื่อต้นปี 2562  เมื่อเข้าสู่เขตเหมืองจะมีการกั้นเขตเหมืองกับเขตชุมชนค่อนข้างชัดเจนด้วยการทำคันดินสูงประมาณสองเมตรกว่าและปลูกต้นสนไว้บนคันดินนั้นด้วย  พร้อมกับล้อมรั้วลวดหนามถัดจากคันดินดังกล่าวออกมาอีกชั้นหนึ่ง  เพื่อบอกอาณาเขต  ติดกับเขตเหมืองมีวัดอยู่ด้วย  ชื่อว่าวัดหนองไทร  เป็นวัดเล็ก ๆ ที่ติดกับเขตเหมือง  พร้อมกับบ่อน้ำสาธารณะอีกสองบ่อ  โดยหนึ่งในนั้นติดกับเขตเหมืองเช่นกัน  สิ่งที่พบเห็นก็คือไม่ว่าจะเป็นสิ่งปลูกสร้างใดของวัดจะถูกกัดกร่อนด้วยความเค็มไปเสียทั้งหมด  ไม่เว้นแม้แต่ต้นไม้ที่ไม่ใช่พืชทนเค็มล้วนตายทั้งหมด

จากการสอบถามชาวบ้านในพื้นที่ได้รับการบอกกล่าวว่า  ก่อนหน้าการมีเหมืองโปแตชพื้นที่แถบนี้ดินค่อนข้างเค็มอยู่แล้ว  และเป็นที่ต่ำ  แต่ก็ไม่ได้กระทบอะไรกับการปลูกพืชมากนัก  แต่หลังจากมีเหมืองก็กลายเป็นอย่างที่เห็น  ปลูกอะไรก็ไม่ขึ้น  ในขณะเดียวกันบ่อน้ำสาธารณะทั้งสองบ่อที่เคยใช้ได้  ตอนนี้ก็ใช้ไม่ได้แล้ว  มีสีเกือบดำสนิทและเค็มมาก  กลายเป็นบ่อทิ้งน้ำเค็มที่ไหลซึมออกมาจากคันดินกั้นบ่อน้ำเกลือของเหมืองไปแล้ว  เหตุที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะที่ตั้งเหมืองอยู่ในระดับความสูง 237 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง (ม.รทก.)  แต่ที่ตั้งวัดหนองไทรและชุมชนสูงแค่ 222 ม.รทก.  น้ำเค็มจึงไหลลงสู่ที่ต่ำกว่า

สิ่งที่น่าสงสัยก็คือบ่อน้ำสาธารณประโยชน์ทั้งสองแห่งนี้เป็นของชุมชนหรือเป็นส่วนหนึ่งของโครงการเหมืองแร่โปแตช  เพราะมีการตั้งเครื่องสูบน้ำเพื่อสูบน้ำเข้าไปในโครงการ (คาดว่าน่าจะเป็นมาตรการบรรเทาผลกระทบจากน้ำเค็มที่ไหลลงบ่อ  โดยสูบกลับไป  เพราะเกรงว่าน้ำเค็มจะล้นทะลักออกจากบ่อลงสู่พื้นที่นาข้าวชาวบ้าน)  และที่สำคัญคือมีการขุดดินภายในวัดให้มีลักษณะเป็นร่องน้ำเพื่อระบายน้ำทิ้ง ซึ่งเป็นน้ำเค็มที่ไหลซึมออกมาจากคันดินของเหมือง  เพื่อให้ไหลลงบ่อน้ำสาธารณประโยชน์ทั้งสองบ่อได้อย่างสะดวกรวดเร็ว  ไม่เอ่อท่วมไหลเข้าสู่พื้นที่วัดส่วนอื่น ๆ  

และอีกกรณีที่น่าเป็นห่วงไม่แพ้กัน  ก็คือกรณีที่คันดินกั้นบ่อน้ำเกลือในเขตเหมืองแตกเมื่อปี 2560  ทำให้น้ำเกลือไหลทะลักท่วมที่นาชาวบ้านกว่า 200 ไร่  แม้จะมีการจ่ายค่าชดเชยให้ชาวบ้านไร่ละ 4,000 บาทในปีนั้นก็ตาม (ปี 2561 คันดินกั้นบ่อน้ำเกลือไม่แตก  แต่ก็มีน้ำซึมจากฐานคันดินไหลออกมาตลอดเวลา  ชาวบ้านเจ้าของนา 200 ไร่ ยังคงได้รับค่าชดเชย 4,000 บาทต่อไร่  และสามารถปลูกข้าวได้  ยกเว้นเฉพาะนาส่วนที่ติดกับคันดินกั้นบ่อน้ำเกลือที่แตกทะลักออกมา  และที่เป็นร่องน้ำ  จะไม่สามารถปลูกข้าวได้  ส่วนฤดูการผลิตข้าวนาปีในปี 2562 ต้องรอดูว่าเจ้าของเหมืองจะชดใช้ให้หรือไม่  แต่ดูจากน้ำเค็มที่ซึมออกมาจากฐานคันดินแล้ว  ชาวบ้านเชื่อว่ายังได้รับค่าชดเชย 4,000 บาทต่อไร่ ดังเช่นสองปีที่ผ่านมาอย่างแน่นอน)  แต่จากสิ่งที่เห็นทำให้ต้องกลับมาตั้งคำถามกับมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมของเจ้าของโครงการคือบริษัท ไทคาลิ จำกัด  ว่ามีมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมเป็นเช่นไร  และได้ทำตามมาตรฐานจริงหรือไม่

อนึ่ง  บริษัท ไทยคาลิ จำกัด ได้ยื่นคำขอประทานบัตรเมื่อปี 2555  สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) เห็นชอบรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (Environmental Impact Assessment : EIA) เมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2557  ได้รับประทานบัตรปี 2558  มีอายุ 25 ปี นับตั้งแต่ 7 กรกฎาคม 2558 – 6 กรกฎาคม 2583  มีกำลังการผลิต 1 แสนตันต่อปี

 

 

 

 

การเมืองกับวิกฤติรุนแรงของแม่น้ำโขง

 

ท่ามกลางภาวะขาดน้ำขั้นวิกฤติรุนแรงของแม่น้ำโขง  อาจจะถือได้ว่าเป็นวิกฤติรุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ของแม่น้ำโขงเท่าที่มีบันทึกไว้ให้เห็นเลยทีเดียว  เพราะนักวิชาการได้เตือนว่าวิกฤตแม่น้ำโขงรอบนี้คือภัยพิบัติทางสิ่งแวดล้อมที่รุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ของอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง และกระทบต่อผู้คนกว่า 70 ล้านคนในอนุภูมิภาคนี้  และท่ามกลางประวัติศาสตร์ 30 ปีของโครงการโขง-ชี-มูล  ฝ่ายที่ออกมาเสนอหรือผลักดันให้เอาโครงสร้างแข็ง ๆ แบบเขื่อนมาปิดกั้นแม่น้ำโขงและแม่น้ำสาขาต่าง ๆ เพื่อแก้ปัญหาภาวะวิกฤติดังกล่าว  ก็คือพรรคการเมืองทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน

เมื่อปี 2535  คชก. พิจารณารายงาน EIA (คณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม) มีมติเห็นชอบให้ก่อสร้างโครงการโขง-ชี-มูลได้เฉพาะระยะแรกในส่วนที่ใช้น้ำในลุ่มน้ำของภาคอีสานเท่านั้น  โดยก่อสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำชีและมูลและแม่น้ำสาขาของแม่น้ำทั้งสองเป็นช่วง ๆ

ส่วนการผันน้ำโขงเข้ามาเติมของโครงการโขง-ชี-มูลทั้งระบบนั้น  ให้ทำการศึกษาผลกระทบที่เกิดจากการแพร่กระจายดินและน้ำเค็มให้แล้วเสร็จเสียก่อน  เพื่อนำมาประกอบการตัดสินใจว่าจะก่อสร้างโครงการโขง-ชี-มูลส่วนที่เหลือที่ต้องผันน้ำโขงเข้ามาหรือไม่ อย่างไร

จนบัดนี้งานศึกษาดังกล่าวก็ยังไม่แล้วเสร็จ  หรืออาจจะเสร็จแล้วแต่ไม่ยอมเปิดเผยอย่างเป็นทางการ  เพราะไม่สามารถสรุปได้ว่าควรสร้างหรือไม่ควรสร้างโครงการโขง-ชี-มูลส่วนที่เหลือที่ต้องผันน้ำโขงเข้ามา

เพราะใต้ผืนแผ่นดินอีสานมีเกลือไม่ต่ำกว่า 18 ล้านล้านตัน  ที่สุ่มเสี่ยงมากหากผันน้ำโขงเข้ามาแล้วไปทำลายหรือรบกวนระบบนิเวศน้ำและเกลือใต้ดิน  จนทำให้เกิดการแพร่กระจายของเกลือใต้ดินขึ้นมาบนผิวดินโดยผิดธรรมชาติจนเกิดหายนะได้

สิ่งที่ขาดหายไปตลอดประวัติศาสตร์การพัฒนาลุ่มแม่น้ำโขงก็คือการขาดมุมมองทางนิเวศวิทยาของนักการเมือง/พรรคการเมือง  โดยเฉพาะองคาพยพทางการเมืองฝั่งไทยเองที่สนใจแต่ตัวเลขงบประมาณการก่อสร้างโครงการพัฒนาขนาดใหญ่  แต่ขาดตัวเลขที่เป็นต้นทุนของระบบนิเวศ  ธรรมชาติ  สิ่งแวดล้อม  สังคมและวิถีชีวิตของผู้คน

มีการกล่าวอย่างไม่เต็มใจนักจากรัฐไทยถึงผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นจากเขื่อนกั้นแม่น้ำโขงในพรมแดนของประเทศจีน แต่ไม่เคยกล่าวถึงผลกระทบที่เกิดจากการกระทำของนักลงทุนไทยที่เข้าไปมีส่วนร่วมสร้างเขื่อนไซยะบุรีปิดกั้นแม่น้ำโขงในพรมแดนของประเทศลาวเลย  มิหนำซ้ำทั้งพรรคการเมืองฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านยังร่วมกันผลักดันโครงการให้เกิดการผันน้ำโขงลงสู่ภาคอีสานและเขื่อนป่าสักในภาคกลางเพื่อซ้ำเติมวิกฤติแม่น้ำโขงยิ่งเข้าไปอีก

About Us

เว็บไทยเอ็นจีโอ สนับสนุนการใช้สัญญาอนุญาตครีเอทีฟคอมมอนส์และเผยแพร่แนวคิดวัฒนธรรมเสรี เนื้อหาในเว็บไซต์ไทยเอ็นจีโอดอทโออาจี ท่านสามารถเอาไปใช้งานได้เลยโดยไม่ต้องขออนุญาต เพียงท่านระบุที่มาและห้ามทำการค้า

ThaiNGO Team

ติดต่อประสานงาน - Contact
Tel : 099-014-3797

ทศพร แกล้วการไร่ : ผู้ดูแลเว็บ - Webmaster
Tel : 080-078-4016

อัฎธิชัย ศิริเทศ : บรรณาธิการ - Editor
Tel : 082-178-3849

Email : webmaster@thaingo.org

Office Hours : Mon-Fri , 9.00-17.00

Contact Info

2044/23 ถ.เพชรบุรีตัดใหม่ บางกะปิ ห้วยขวาง กรุงเทพ 10310

2044/23 New Phetchaburi Road, Bangkapi, Huai Khwang, Bankok 10310

+662 314 4112